กรมปศุสัตว์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโคนมพันธุ์ “ทรอปิคอลโฮลสไตน์” โคนมสายเลือดไทย ให้มีความดีเด่นในด้านผลผลิตน้ำนม และรูปร่างโคนมที่ดี เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้โคนมที่มีพันธุกรรมยอดเยี่ยมที่สุดในอาเซียน
นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า กรมปศุสัตว์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโคนมพันธุ์ “ทรอปิคอลโฮลสไตน์” โคนมสายเลือดไทย ให้มีความดีเด่นในด้านผลผลิตน้ำนม และรูปร่างโคนมที่ดี เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้โคนมที่มีพันธุกรรมยอดเยี่ยมที่สุดในอาเซียน ส่งออกแม่โคนมของไทยไป เวียดนาม และมาเลเซีย และยังเป็นเจ้าภาพจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการผสมเทียมและปรับปรุงพันธุ์ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเชียนที่มีความพร้อมและประสบความสำเร็จในการพัฒนาจนได้พันธุ์โคนมที่ให้ผลผลิตดี เลี้ยงง่าย ภายใต้ภูมิภาคอากาศแบบร้อนชื้นของอาเซียน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า พ่อพันธุ์โคนมทรอปิคอลโฮลสไตน์ของกรมปศุสัตว์ มีกระบวนการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงประสบความสำเร็จ สามารถให้กำเนิดลูกสาวพันธุกรรมดีที่ให้น้ำนมถึง สูงถึง 5,000-6,000 กิโลกรัม/305วัน ภายใต้สภาพการเลี้ยงดูปกติในฟาร์มของเกษตรกร(ในขณะที่ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยของโคนมทั้งประเทศมีค่าเท่ากับ 3,816 กิโลกรัม/305 วัน) ซึ่งพ่อพันธุ์โคนมทรอปิคอลโฮลสไตน์นี้จะใช้ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งประมาณ 250,000 โด๊สต่อปี เพื่อใช้บริการผสมเทียมแก่แม่โคนมมากกว่า 70% ของโคนมในประเทศ ทำให้ประเทศไทยลดการสูญเสียเงินตรา และประหยัดงบประมาณการนำเข้าน้ำเชื้อแช่แข็งจากต่างประเทศได้ประมาณปีละ 50 ล้านบาท
กรมปศุสัตว์ โดย สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ มีมุ่งมั่นในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคนมของไทยให้มีความก้าวหน้าทางพันธุกรรมเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยมุ่งเน้นในลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ คุณภาพน้ำนม และปริมาณน้ำนม ลักษณะรูปร่าง ความสมบูรณ์พันธุ์ และมีคุณสมบัติสอดคล้องกับระบบการตลาด การผลิต การเลี้ยงดู และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยสามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านพันธุกรรมโคนม ดังจะเห็นได้ว่าในการดำเนินงานด้านการพัฒนาพันธุ์โคนมมีแนวโน้มที่ดี และบ่งชี้ให้เห็นว่าอนาคตของโคนมของไทยสามารถก้าวหน้าต่อไป และยังเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนด้านการพัฒนาพันธุ์โคนมอีกด้วย
...................................................
ข้อมูล : จุรีรัตน์ แสนโภชน์ นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์