ว่ากันว่า ฉากแรก ของละครจะเป็นจุดที่ทำให้คนสนใจติดตามและ ฉากสุดท้าย จะเป็นบทสรุปถึงชะตากรรมของตัวละครที่เกี่ยวข้อง แต่ฉากชีวิตของ “ช้างไทย” นั้นไม่รู้จบ...ไม่มีฉากสุดท้าย มีแต่ม่านน้ำตามาบดบังให้ดูเหมือนว่าฉากนั้นใกล้จะจบลง... แต่ม่านที่แท้จริงนั้นยังไม่ปิด...หรือเป็นเพราะเรายังหา ม่าน นั้นไม่เจอ!
ความเจ็บปวดในหลายครั้งของชีวิตเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำ...บางท่านอาจจะจดจำไปจนชั่วชีวิต แต่ก็อีกล่ะค่ะ...คนบางคนอาจไม่รู้จักคำว่า “เจ็บ” ด้วยซ้ำ อีกทั้งไม่รู้ว่า “น้ำตา” นั้นกลั่นมาจากอะไร?
มูลนิธิเพื่อนช้างก่อกำเนิดมาท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายของบ้านเมือง ซึ่งมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก นับแต่ปีพุทธศักราช 2536 จนจวบถึงปัจจุบัน(2549)ย่างเข้าปีที่สิบสี่ที่ทางมูลนิธิเพื่อนช้างเฝ้าระวัง ป้องกัน หาหนทางแก้ไข เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ช่วยเหลือ “ช้างไทย” ที่ได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้มาบริบาล แต่ปัญหาของ “ช้างไทย” ก็ยังคงอยู่ แม้นเสียงสะท้อนของมูลนิธิเพื่อนช้างจะดังไปทั่ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วก็ตามที “ช้างไทย” ยังเป็น “เหยื่อ” ของผู้แสวงหาผลประโยชน์ไม่สิ้นสุดอยู่นั่นเอง
เมื่อประมาณสี่สิบปีก่อน ในประเทศไทย เรามีช้างอยู่ประมาณ 40,000 เชือก มันเป็นเรื่องน่าใจหายที่ปัจจุบันเรามีช้างไทยเหลืออยู่ไม่ถึง 5,000 เชือก ใน 2,000 ชีวิตแรกนั้นเป็นช้างป่า อาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติอันได้แก่ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าฯ ซึ่งนับเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารก็แคบลงเรื่อยๆ เพราะป่าไม้ธรรมชาติลดลง ความต้องการพื้นที่ในการทำการเกษตรเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร ส่วนที่เหลืออีกน้อยกว่าสามพันชีวิตก็คือช้างบ้าน หรือช้างเลี้ยงที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี เพราะบางส่วนมาเดินให้เราเห็นอยู่ในพระนครนี่เอง
“อะไรคือที่มาของปัญหา?” ความยากจนขัดสนหรือ! อาจใช่! ประชากรช้างเพิ่มขึ้นจนไม่มีที่ให้อยู่หรือ? ไม่น่าใช่แน่! เพราะอัตราการสูญเสียของช้างบ้านสูงถึงเกือบ 200 เชือกต่อปี
ดังนั้นก่อนที่ดิฉันจะเล่าเรื่องราวอันน่ารันทดของ “ช้างไทย” ให้ท่านได้รับทราบ ดิฉันขอนำเรียนให้ท่านทราบถึงรากของปัญหาอันเป็นชนวนและโซ่พันธนาการตัวช้างอย่างดิ้นไม่หลุดเสียก่อนดิฉันแบ่งช้างในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ด้วยกันคือ
1. ช้างทำงาน เป็นงานทำไม้มาแต่อดีต ปัจจุบันจะเป็นการทำไม้ในภาคเหนือที่ผิดกฎหมาย หรือที่เราเรียกว่า “ไม้เถื่อน” ช้างกลุ่มนี้เคยมีถึง 1,500 เชือก ปัจจุบันถูกถ่ายโอนมาเป็นช้างในธุรกิจท่องเที่ยวบ้าง เป็นบางส่วน (ตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อนช้าง) และบางส่วนถูกซื้อไปเดินเร่ร่อน
2. ช้างในธุรกิจท่องเที่ยว เป็นช้างที่ทำงานในปางช้างต่างๆ ในอดีตเมื่อสัก 10-20 ปี ก่อน ก็มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในภาคเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันมีอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ อีกทั้งด้านตะวันออกและเขตชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศ มีช้างในปางขนาดใหญ่ ซึ่งมีประมาณ 25 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนช้างตั้งแต่ 20 ถึงกว่า 100 เชือก ส่วนปางช้างขนาดเล็กทั่วประเทศ มีถึง 50-75 แห่ง มีช้างอยู่เพียง 2-10 เชือก บางแห่งเป็นปางเฉพาะกิจ จึงเปิดเพียงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มาก็แยกย้ายกันไป จึงกล่าวได้ว่า ช้างกลุ่มนี้กำลังเป็นช้างกลุ่มใหญ่ เพราะมีถึงประมาณ 1,000 กว่าเชือก
3. ช้างเร่ร่อน ช้างกลุ่มนี้เป็นช้างที่ถูกนำมาจากภาคอีสานในเขตจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ เดิมมีประมาณ 300 เชือก นับเป็นช้างที่เป็นมรดกตกทอดต่อกันมา แต่ต่อมาช้างจากภาคเหนือถูกกลุ่มนายทุนกว้านซื้อมาสู่กลุ่มนี้จำนวนมาก จนเกือบถึง 700-800 เชือก อย่างไรก็ดี ช้างกลุ่มนี้ก็เข้าไปทำงานตามปางช้างในฤดูการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวลดลงก็จะนำออกมาเดินเร่ร่อน ตัวเลขระหว่างกลุ่มที่ 2 และ 3 จึงเคลื่อนตามตัวแปร และพบว่าจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนช้างกันอย่างแพร่หลาย และราคาของช้างขณะนี้สูงถึง 5-6 แสนบาทต่อเชือก
4. ช้างในสวนสัตว์หรือเจ้าของเลี้ยงไว้เอง ช้างกลุ่มนี้จะเป็นปัญหาน้อยที่สุด เพราะมีอยู่ประมาณ 100 เชือก และอยู่เป็นที่เป็นทางแต่ก็มีปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะมักเลี้ยงไว้ตามลำพังขาดการสมาคมกับช้างด้วยกัน จึงเกิดความเครียดและดุร้าย
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของปัญหาของช้างแต่ละกลุ่มเท่านั้น เมื่อมองลึกลงไป มูลนิธิเพื่อนช้างและตัวดิฉันเองเจ็บปวดเหลือเกินกับภาพชีวิตที่สะท้อนปัญหาของช้างไทย จากพญาช้างศึกมาเป็นช้างเดินอยู่ริมบาทวิถี....ภาพเหล่านั้นบอกอะไรกับเราบ้าง ?
“เวลาประมาณ 21.15 น. พบเห็นช้างแม่ลูกอยู่หน้าร้านขายแฮมเบอเกอร์ ย่านเอราวัณ ลูกช้างล้มตัวลงนอน ไม่ทราบว่าป่วยหรือพักเหนื่อย และพบติดต่อกันมาแล้วหลายวัน ในช่วงเย็นถึงค่ำ”...,”มีควาญคอยดึงเชือกให้ลูกช้างลุก ลูกช้างก็ลงไปนอนอีก เขาขายอาหารในถุงพลาสติก ถุงละ 20 บาท..” “.. มีช้างเดินเขย่งบริเวณถนนพระราม 9” “..เห็นช้างและควาญที่คอยขายอาหารหน้าร้านข้าวต้มบนถนนตัดใหม่...ทุกคืน” “มีรถบรรทุก 4 คันขนลูกช้างคันละ 3 ตัว มาลงที่ถนนราชพฤกษ์ สะพานพระราม 5” ฯลฯ
รายงานลักษณะเช่นนี้ มีเข้ามายังมูลนิธิเพื่อนช้างแทบทุกวัน วันละหลายครั้ง ภาพช้างและควาญที่เร่ให้คนลอดท้องช้างและขายของ เช่น น้ำมัน ขนหางช้าง งาช้างแกะชิ้นเล็ก ๆ เคยพบเห็นได้เป็นครั้งคราวเมื่อสิบกว่าปีก่อนล่วงมาเลือนหายไป ผู้คนมักตื่นเต้นดีใจ พากันไปตักน้ำไปให้ช้างดื่มหรือวิ่งเข้าบ้านไปขนเอาผัก ผลไม้มาให้ช้างกิน ด้วยความรักและความเอ็นดูอันเป็นสายใยระหว่างคนไทยกับช้างที่มีมาช้านานนี้เป็นภาพที่งดงามยิ่ง
แต่ทุกวันนี้ภาพช้างเดินฝ่าไอระอุร้อนบนถนนในเมืองหลวงท่ามกลางฝุ่นควันและมลพิษ แม้นในเวลาค่ำคืนที่มองไม่เห็นตัว นอกจากไฟสะท้อนแสงที่นำมาติดที่หางเพื่ออ้างว่ามีผลให้มองเห็นแล้ว ภาพช้างตามที่ชุมชนหน้าร้านข้าวต้ม ร้านอาหารพร้อมด้วยคนเลี้ยงที่เสนอขายอาหารช้างแก่ผู้คนที่สัญจรไปมา และผู้ที่นั่งรับประทานอาหาร เป็นภาพที่เราเห็นได้ทุกวัน วันละหลายครั้ง และบ่อยขึ้นทุกที
การดิ้นรนเพื่อเลี้ยงชีพคือจุดเริ่มต้นของภาพเหล่านี้ เนื่องจากงานที่เคยมีในท้องถิ่นลดลง ประกอบกับป่าและพื้นที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะที่ชาวบ้านสามารถนำวัวควายจนถึงช้างไปปล่อยให้หาอาหารกินได้ก็ลดลง ทั้งที่ถูกรุกด้วยโครงการพัฒนาต่าง ๆ และการกว้านซื้อของเจ้าของทุนเพื่อปลูกยูคาลิปตัส และสวนป่าที่ปลูกในลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแรงผลักให้คนต้องนำช้างออกเร่ คนนำช้างเข้ามาหากินในป่าคอนกรีต คนต้องทิ้งลูกทิ้งครอบครัว ปัจจุบันเป็นจริงดังนั้นหรือคะ? ใช่เหตุผลนี้แน่แล้วหรือ?.....ไม่ใช่ค่ะ!
เมื่อคนหันมาให้ความสนใจต่อปัญหาช้าง เจ้าของรู้แหล่งและวิธีหารายได้มากขึ้น จากเร่เรื่อยไปก็ไปยังจุดชุมชนประจำ สวนอาหาร ร้านข้าวต้ม จากลอดท้องช้างกลายเป็นขายอาหาร ได้อิ่มทั้งคนและช้าง รายได้ที่เป็นกอบเป็นกำกว่าแต่ก่อนดึงเจ้าของกับช้างคู่แล้วคู่เล่าเข้ามาในเมือง จากเจ้าของช้างที่ก็มีช้างอยู่เอง ออกเร่เพื่อความอยู่รอดของทั้งคนและช้าง กลายเป็นวงจรธุรกิจของกลุ่มทุนที่หากินกับคนและช้าง มองช้างเป็นเครื่องมือสร้างอาชีพ คนเลี้ยงช้างรุ่นใหม่ที่มองช้างเป็นหน้าที่และตัวทำเงิน ขาดศิลปะทางวิชาชีพที่เกิดจากความผูกพัน ซึ่งเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ควาญช้าง” แทบไม่เต็มปาก
แล้ววงจรก็หมุนวนกลับไปสู่การลักลอบจับลูกช้างจากป่ามาขายรอบแล้วรอบเล่า ไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากวงล้อที่หมุนเวียนเหล่านี้แล้ว มูลนิธิเพื่อนช้างได้แต่หวังว่าหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่ตั้งขึ้นมาภายหลังจะร่วมมือกันช่วยเหลือ “ช้างไทย” ด้วยความจริงใจ แต่เป็นที่น่าแปลกใจที่ภาครัฐและเอกชนกลุ่มดังกล่าวนำข้อเรียกร้องของมูลนิธิเพื่อนช้าง รวมทั้งแนวทางการป้องกันและการแก้ไขปัญหาของช้างนั้นไปใช้โดยนำเสนอเป็นเรื่องของหน่วยงานตน โดยไม่นำพาว่ามูลนิธิเพื่อนช้างเป็นผู้เสนอและได้ดำเนินการช่วยเหลือ “ช้างไทย” มาประการใดบ้าง ทั้งได้สร้างโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลกขึ้นในประเทศไทย อันเป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่บริจาคชาวไทยและผู้บริจาคในประเทศอื่น ๆ ที่กรุณาสนับสนุน
สิ่งสำคัญที่ดิฉันอยากจะนำเรียนท่านทั้งหลายก็คือ มีคณะกรรมการและอนุกรรมการในหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ “ช้างไทย” ก็ยังคงถูกนำมาใช้เป็น “เหยื่อ” และ “ตัวประกัน” ของหน่วยงานและกลุ่มคนบางกลุ่มอยู่นั่นเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมจึงนำ “ช้าง” มาเป็นของเล่นกันอย่างไม่ละอาย แทนที่จะพูดและปฏิบัติเพื่อให้ “ช้าง” ได้รับการคุ้มครองดูแล กลับพูดว่าจะได้อะไรจากช้างบ้าง การของบประมาณกันเป็นหลายพันล้านบาท โดยอ้างว่าจะนำไปช่วยช้างนี้ มูลนิธิฯ มีข้อกังขาเพราะคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมากำกับนโยบายช้างส่วนใหญ่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการค้าช้าง การนำช้างมาหารายได้ การนำช้างมาเร่ร่อน ผู้สนับสนุนการกระทำอันไม่สมควรนี้ ไม่น่าที่จะเป็นผู้กำกับดูแลนโยบาย เพราะจะนำพา “ช้าง” ไปสู่ “การแสวงหาผลประโยชน์” ไม่รู้จบ การของบประมาณซื้อช้าง ก็คือการกระตุ้นให้ผู้ค้าช้างนำช้างป่าหรือช้างจากประเทศเพื่อนบ้านออกมาขาย นอกจากนั้นแล้วการที่ “ช้าง” ถูกนำมาเดินเร่บนท้องถนนและประสบอุบัติเหตุ ก็ทำให้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มสนุกกับการที่มีช้างประสบเหตุ ได้ผลประโยชน์ ไม่มีที่สิ้นสุด ขณะที่ช้างเดินอยู่เป็นจำนวนร้อยเชือกในเขตกรุงเทพมหานคร แต่หน่วยงานรัฐบางหน่วยกลับมองว่ามีบ้างเท่านั้น
มูลนิธิเพื่อนช้างยังคงยืนหยัดอยู่จุดเดิม ว่าสิ่งที่กลุ่มขบวนการที่ทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนี่เป็นภัยสาธารณะที่ต้องมีการหยุดยั้ง เราต้องเสียชีวิตของทั้งช้างและคนรวมทั้งทรัพย์สินอีกมากเท่าใดจึงจะมีการหยุดยั้งและป้องปรามขบวนการนี้ได้ ทำไมคนในกรุงเทพฯ สิบกว่าล้านคนและในจังหวัดต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบชีวิตของตนและญาติพี่น้อง ทำไมต้องให้ช้างมาเดินบนถนน!
ทำไมกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันและเรียกตนเองว่า “ชาวช้าง” และเรียกร้องให้นำช้างไทยไปต่างแดนได้มากขึ้น จึงกระทำการประหนึ่งผู้มีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมาย จะทำอย่างไรก็ได้ โดยมีการละเลยจากภาครัฐบางหน่วยงาน เมื่อเกิดเหตุมีใครบ้างออกมารับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินที่ถูกทำลายโดยช้างที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เป็นแต่เพียงช้างเหนื่อยและอ่อนล้า นายทุนและผู้ที่อยู่ในหน่วยงานเอกชนบางแห่งอยู่เบื้องหลังการค้า “ช้าง” ซึ่งนอกจากจะเป็นช้างที่นายทุนกว้านซื้อเพื่อให้เช่าหรือขายต่อแล้ว บางส่วนถูกนำออกไปต่างประเทศ โดยอ้างการเช่าช้างไป ซึ่งกฎหมายมีช่องโหว่อยู่ แล้วต่อมาจึงแจ้งว่า “ช้างตาย” จึงไม่ต้องนำช้างกลับมาประเทศไทยตามกฎหมายกำหนด แต่สามารถขายช้างได้เป็นจำนวนหลายล้านบาท ซึ่งการนำช้างมาเดินจึงเป็นการกดดันเพื่อจะนำส่งออกไปต่างแดนได้อย่างเสรี โดยอ้างว่าช้างไม่มีงานทำ เป็นต้น
มูลนิธิเพื่อนช้าง จึงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้กรุงเทพมหานครและเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศเป็นเขตปลอดช้าง แต่ก็ยังมีช้างมาเดินให้เห็นอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย การที่หน่วยงานของรัฐตั้งงบประมาณเพื่อจะซื้อช้างโดยไม่ทราบแหล่งที่มาจึงเป็นตัวเอื้อให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำช้างเถื่อนมาเป็นช้างถูกกฎหมายโดยไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไปให้ถูกต้องชัดเจน และไม่มีข้อคำนึงถึงห่วงโซ่ที่แหล่งนายทุนผู้ค้าช้าง ดำเนินการลักลอบนำช้างออกจากป่าภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลนิธิฯ จึงร้องขอมายังประชาชนผู้เป็น “เพื่อนช้าง” ได้โปรดสนับสนุนการปฏิบัติงานของมูลนิธิเพื่อนช้าง เพื่อให้ “ช้างไทย” ได้หลุดออกจากห่วงโซ่ที่พันธนาการโดยกลุ่มนายทุนผู้แสวงหาผลประโยชน์เหล่านั้นเสีย ตราบใดที่มิได้พิจารณาโดยนำ “ช้าง” เป็นหลัก ตราบนั้น ฉากชีวิตของช้างก็ยังคงเป็น
ฉากที่หาม่านปิดลงไม่เจอ? ขอฝาก “ช้าง” และ “เพื่อนช้าง” ด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
คุณโซไรดา ซาลวาลา
ผู้ก่อตั้ง/กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเพื่อนช้าง
ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2549