รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในมาตรา 57 บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ…………”พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 มีบทบัญญัติหลายมาตราที่ให้ความคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับคุณภาพของอหารสัตว์แก่ผู้ที่ซื้อใช้อาหารสัตว์ ดังนี้ 1. เกษตรกรผู้ซื้อใช้อาหารสัตว์จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพของอาหารสัตว์ที่ถูกต้อง เช่น สิทธิที่จะได้รับรู้การโฆษณาคุณภาพอาหารสัตว์หรือการแสดงข้อความบนฉลาก ของผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยต่อสัตว์ หรือมีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์สัตว์อันอาจมีผลมาถึงมนุษย์ผู้บริโภค |
กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ให้ความคุ้มครองเกษตรกรผู้ซื้อใช้อาหารสัตว์
เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ส่วนมากจะซื้ออาหารสัตว์ที่ผสมเสร็จเรียบร้อยแล้วมาเลี้ยงสัตว์ แต่ถ้าทำเป็นฟาร์มขนาดใหญ่แล้วจะซื้อสารผสมล่วงหน้า (ฟรีมิกซ์) มาผสมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ ตามหลักสูตรอาหารสัตว์ที่กำหนดไว้ และส่วนมากจะซื้อใช้ตามคำแนะนำของตัวแทน ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพอาหารสัตว์ จึงไม่ทราบว่า อาหารสัตว์ที่ซื้อมาใช้นั้น มีคุณภาพตามคำแนะนำหรือที่โฆษณาตามสื่อต่างๆหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ได้รับอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ และนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์ประมาณ 350 รายและ 250 รายตามลำดับ ฉะนั้นพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 จึงได้ตราขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาด้านคุณภาพของอาหารสัตว์เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นแล้วจะคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่ผู้ซื้อได้อย่างไร ซึ่งพอจะให้รายละเอียดได้ดังนี้
1. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจออกประกาศกระทรวงฯ เพื่อกำหนดข้อบังคับต่างๆ ดังนี้
1.1 กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะทางอาหารสัตว์ที่จะต้องควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ เพราะฉะนั้นอาหารสัตว์ชนิดใดที่ถูกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้ควบคุมก็จะมีผลการควบคุมภายใต้พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ และกรมปศุสัตว์ได้เสนอการควบคุมอาหารสัตว์ต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์โดยคณะกรรมการนี้ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นรองประธานกรรมการกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสิบสองคน ในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากเกษตรกรสี่คนเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการกองควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์กรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งขณะนี้ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดว่าอะไรเป็นอาหารสัตว์ที่ต้องควบคุมโดยแยกตามประเภทชนิด ได้ดังนี้
1.1.1 ประเภทวัตถุที่ผสมแล้ว มี 3 ชนิด คือ
- หัวอาหารสัตว์
- อาหารสัตว์สำเร็จรูป
- สารผสมล่วงหน้า (ฟรีมิกซ์)
สารผสมล่วงหน้า (ฟรีมิกซ์) คือวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์และสื่อ
สื่อคือวัตถุที่ใช้ในการเจือจาง หรือใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ และให้ความหมายรวมถึงสื่อประเภทส่วนของพืช แร่ธาตุ กาก น้ำตาล ผลิตผลที่เหลือจากการหมัก น้ำมันที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ วัสดุที่เหลือจากการเกษตรที่ปลอดภัย เคลย์ (Clay) ซิลิคอนไดออกไซด์ (Silicon dioxide) เคโอลิน (Kaolin) และแป้งจากพืชที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ด้วย
วัตถุที่ผสมแล้วทั้ง 3 ชนิดต้องใช้สำหรับเลี้ยงไก่ เป็ด สุกร โค กระบือ กระต่าย นกกระทา กุ้งทะเล กุ้งน้ำจืด ปลาดุก และปลาน้ำจืดกินพืช
1.1.2 ประเภทอาหารสัตว์ผสมยา
“อาหารสัตว์ผสมยา” หมายความว่าอาหารสำเร็จรูป หัวอาหารสัตว์และสารผสมล่วงหน้าที่มีส่วนผสมของยาหรือเภสัชเคมีภัณฑ์หรือวัตถุ ที่เติมในอาหารสัตว์ในปริมาณที่จำกัดตามขนาดการใช้ของยา หรือเภสัชเคมีภัณฑ์หรือวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์แต่ละชนิดเพื่อเสริมสุขภาพในการป้องกันและกำจัดโรคสัตว์
1.1.3 ประเภทวัตถุดิบอาหารสัตว์ มี 19 ชนิด คือ
- ปลาป่นชั้นคุณภาพที่ 1
- ปลาป่นชั้นคุณภาพที่ 2
- ปลาป่นชั้นคุณภาพที่ 3
- ถั่วเหลืองอบ
- กากถั่วเหลือง
- กากถั่วลิสง
- รำข้าว ได้แก่ รำละเอียด รำหยาบ รำสกัดน้ำมัน
- ข้าวโพดเมล็ด เกรด 1
- ข้าวโพดเมล็ด เกรด 2
- ข้าวโพดป่น เกรด 1
- ข้าวโพดป่น เกรด 2
- ปลาและกระดูกปลาป่น
- เนื้อป่น
- เนื้อป่นสกัดไขมัน
- เนื้อและกระดูกป่น (โปรตีน 50 %)
- เนื้อและกระดูกป่น (โปรตีน 45 %)
- ขนสัตว์ปีกป่น จำพวกขนนก ขนไก่ ขนเป็ด และขนห่าน
วัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อนุญาตให้ผสมได้ในอาหารสัตว์เพื่อใช้เลี้ยงไก่ เนื้อ สุกร โค กระบือ ยกเว้นพวก เนื้อป่น สกัดไขมัน เนื้อและกระดูกป่นห้ามใช้ผสมผลิตเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง และขนสัตว์ปีกป่นกำหนดให้ใช้เฉพาะผสมในอาหารสำหรับ เป็ด ไก่ สุกร และโค
1.1.4 ประเภทผลิตภัณฑ์นมสำหรับสัตว์ ใช้กับสัตว์ทุกประเภทมี 6 ชนิด คือ
- นมผงสำหรับสัตว์ (Whole Milk Powder Feed Grade) ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจากนมโค ระเหยน้ำออกโดยกรรมวิธีต่างๆ จนเป็นผง
- หางนมผงสำหรับสัตว์ (Skimmed Milk Power and Butter Milk Powder Feed Grade) ต้องเป็นนมผงสำหรับสัตว์ที่สกัดไขมันออกบางส่วนและระเหยน้ำออก โดยกรรมวิธีต่างๆ จนเป็นผง และเติมวัตถุดับอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้เหมาะสม
- หางเนยผงสำหรับสัตว์ (Whey Powder) ต้องเป็นผลิตภัณฑ์จากส่วนที่เหลือจากขบวนการทำเนยแข็งนำมาระเหยน้ำและทำให้แข็ง
- อาหารแทนนมสำหรับสัตว์ (Milk Replacer) ต้องเป็นผลิตภัณฑ์นมที่นำมาเติมวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อให้มีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับนมธรรมชาติ
- หางนมผงดัดแปลงสำหรับสัตว์ (Dematured Whey Powder) ต้องเป็นหางเนยผงที่นำมาเติมวัตถุดิบบางตัว เพื่อเพิ่มคุณภาพให้เหมาะสม
1.1.5 ประเภทอาหารเสริมสำหรับสัตว์
อาหารเสริมสำหรับสัตว์ หมายความว่า วัตถุที่ผสมแล้ว วัตถุที่เติมในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการแก่สัตว์ โดยให้สัตว์กินโดยตรง และหรือทำให้เจือจางก่อนใช้เลี้ยงสัตว์ และหรือใช้ผสมอาหารสัตว์อื่นเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ ได้แก่
- อาหารเสริมโปรตีน
- อาหารเสริมแร่ธาตุ
- อาหารเสริมวิตามิน
- อาหารเสริมไขมัน
1.2) กำหนดคุณภาพ หรือมาตรฐานทางอาหารสัตว์ ตลอดจนหลักเกณฑ์ และวิธี
ผลิตเพื่อขาย หรือขายอาหารสัตว์ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือขายอาหารสัตว์นั้น ซึ่งผู้ได้รับอนุญาตต้องผลิต หรือนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานนั้นต้องนำอาหารสัตว์ที่จะผลิตหรือนำมาขอขึ้นทะเบียนสูตรอาหารสัตว์ก่อน เมื่อได้รับใบสำคัญทะเบียนสูตรแล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้าอาหารสัตว์เพื่อขายได้ และกรมปศุสัตว์ได้เสนอคณะกรรมการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ขอจัดตั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ จำนวนหลายคณะ เพื่อช่วยในการพิจารณาเกี่ยวกับกำหนดมาตรฐานอาหารสัตว์ วัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ การพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ การพิจารณาสื่อโฆษณา และการดำเนินการตามกฎหมาย โดยคณะอนุกรรมการเหล่านี้จะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนสำหรับคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหารสัตว์ ได้พิจารณากำหนดมาตรฐานวัตถุดิบอาหารสัตว์เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ เพื่อออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บังคับใช้ต่อไป และเนื่องจากมาตรฐานอาหารสัตว์ได้กำหนดให้มีคุณภาพเช่นเดียวกับที่ได้ขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ไว้ จึงได้วางแนวทางการพิจารณาคุณภาพมาตรฐานอาหารสัตว์สำเร็จรูปและหัวอาหารสัตว์ไว้