การเลี้ยงนกเขาชวามีการพัฒนาเป็นอาชีพให้เป็นเอกลักษณ์ที่นำรายได้ให้กับชุมชนชายแดนภาคใต้ และส่งผลดีต่อการสร้างอาชีพอื่นๆในภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ได้แก่ การทำกรงนก ผ้าคลุมกรงนก ผลิตอาหารนก การแข่งขันนกเขาชวา เป็นต้น จากชื่อเสียงของนกเขาชวาของไทย ชาวต่างประเทศจึงนิยมและยอมรับนกเขาชวาของไทย โดยมีประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นตลาดรองรับที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นกเขาชวายังเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เลี้ยงในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีการหมุนเวียนของเงินตราที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนจำนวนมากมายมหาศาล แต่จากปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในแถบเอเซียอาคเนย์เมื่อปี 2547 ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกเพื่อการนำเข้าและส่งออกประสบกับอุปสรรค เพราะโรคไข้หวัดนกกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้า กระทบโดยตรงต่อวงการนกเขาชวาเสียง คือการส่งออกนกเขาชวาต้องหยุดชะงักลง เป็นผลให้อาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบตามมาด้วย
นายทฤษฎี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หลังจากปี 2551 ซึ่งประเทศไทยสามารถดำเนิน การควบคุมโรคไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสนับสนุนภาคธุรกิจโดยเจรจาการส่งออกสัตว์ปีกกับประเทศคู่ค้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งประเทศในเครือยุโรปยอมรับสินค้าสัตว์ปีกที่ส่งออกจากประเทศไทย ในการจัดประชุมร่วมไทยและอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2555 ครั้งนี้ เป็นผลจากความเห็นชอบของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมด้านการเกษตร ไทย-อินโดนีเซีย (Joint Agricultural Working Group JAWG) ครั้งที่ 5 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2554 ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เสนอโครงการการร่วมมือทางเทคนิคในการควบคุมโรคไข้หวัดนก เพื่อส่งเสริมการค้านกเขาชวาเสียงระหว่างไทยและอินโดนีเซีย จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันโดยตรง เพื่อนำไปสู่การรื้อฟื้นการส่งออกนกเขาชวาเสียงของไทยไปอินโดนีเซียต่อไป โดยกรมปศุสัตว์เชื่อว่า จากระบบการจัดการฟาร์มสัตว์ปีกที่ผ่านรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีมาตรการควบคุมโรคและการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง จะช่วยสร้างความมั่นใจในการส่งออกสัตว์ปีกให้กับประเทศคู่ค้าและ รื้อฟื้นธุรกิจการส่งออกนกเขาชวาให้กลับมาเหมือนเดิม
การจัดประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และ ศอ.บต. เพื่อร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่ จชต. ให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับการพัฒนาการดำเนินชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้น นอกจากการประชุมร่วมเพื่อแลก เปลี่ยนข้อมูลและกำหนดเงื่อนไขการส่งออกนกเขาชวาจากไทยเพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันแล้ว คณะผู้แทนจากอินโดนีเซียจะเดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มนกเขาชวาที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ จชต. ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี และ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในการจัดการฟาร์มที่ดีในวงการผู้เลี้ยงนกเขาชวาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
-----------------------------------------------
ข่าวโดย
สำนักงานปศุสัตว์เขต ๙
กรมปศุสัตว์