1

วันที่ 5-8 มีนาคม 2567 นายสัตวแพทย์ ดร.อนิรุธ เนื่องเม็ก ปศุสัตว์เขต 9 มอบหมายให้ นายณัฐวุฒิ ปุรินทราภิบาล ผอ.ส่วนส่งเสริมฯ เข้าร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดให้มีการประกวดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือที่เรียกว่า ศพก. ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ (ศพก.หลักหรือ ศพก.เครือข่าย) ที่มีผลงานดีเด่นในการบริหารจัดการ ศพก. ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน และเป็นตัวอย่างในการขยายผลการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรในชุมชนและพื้นที่อื่น พัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงาน ศพก. เผยแพร่และขยายผลการดำเนินงานของ ศพก.ดีเด่นสู่สาธารณชน การประกวดมี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด เขต และระดับประเทศ โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ใน 5 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) ตัวเกษตรกรต้นแบบที่มีองค์ความรู้ 2) ผลการดำเนินของ ศพก. ทั้งความพร้อมเรื่องอาคาร สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ฐานเรียนรู้ แปลงเรียนรู้ หลักสูตร และแนวทางการพัฒนา ศพก. 3) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของเกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติ 4) การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้/การนำ BCG มาใช้ในการผลิต และ 5) การสร้างภาคีเครือข่ายในการดำเนินงาน
ในส่วนภาคใต้ นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ประธานคณะกรรมการคัดเลือก ศพก. ดีเด่นระดับเขต ให้ข้อมูลว่าตนได้นำทีมคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมปศุสัตว์ ดำเนินการคัดเลือก ศพก.ต้นแบบดีเด่น ระดับเขต ปี 2567
ซึ่งในปีนี้แบ่งการคัดเลือกออกเป็น 2 เขต ได้แก่ พื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ระนอง พังงา และจังหวัดกระบี่ และพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง และจังหวัดตรัง โดยเบื้องต้นคณะกรรมการได้ประชุมพิจารณาคัดเลือกจากเอกสารสรุปผลการดำเนินงาน ศพก.ดีเด่นระดับจังหวัด พื้นที่ละ 4 จังหวัด เพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งผลการคัดเลือกเบื้องต้นภาคใต้ตอนบน ได้แก่

1) ศพก. อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรกรต้นแบบ นายสุมาตร อินทรมณี สินค้าหลักปาล์มน้ำมัน

2) ศพก.อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เกษตรกรต้นแบบ นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ สินค้าหลักมังคุด

3) ศพก.อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เกษตรกรต้นแบบนายสัญญา หิรัญวดี ศพก.ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และ

4) ศพก.อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกรต้นแบบ นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ สินค้าหลักยางพารา

ทั้งนี้คณะกรรมการได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้วในวันที่ 20-23 กุมภาพันธ์ 2567 ทุก ศพก. มีความโดดเด่นแตกต่างกันไปตามศักยภาพของพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายมาพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ได้อย่างดีเยี่ยม ในส่วนภาคใต้ตอนล่าง มีแผนลงพื้นที่เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 5 - 8 มีนาคม 2567 จำนวน 4 แห่ง คือ

1) ศพก.อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เกษตรกรต้นแบบ นายประยูร แสงแก้ว สินค้าหลักยางพารา

2) ศพก.อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เกษตรกรต้นแบบ นางณัฐกานต์ ศรียาน สินค้าหลักพืชผัก

3) ศพก.เครือข่ายอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง เกษตรกรต้นแบบ นางบุญรัตน์ ช่วยธานี ศพก.ด้านเกษตรแบบผสมผสาน และ

4) ศพก.อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เกษตรกรต้นแบบ นายนัน ชูเอียด สินค้าหลัก สละ

สำหรับรางวัลการประกวด ศพก. ดีเด่นระดับเขต มีจำนวนเขตละ 4 รางวัล ดังนี้

1) รางวัลชนะเลิศ ได้รับ เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับ เงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับ เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

4) รางวัลชมเชย ได้รับ เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

การประกวด ศพก. จะเป็นการพัฒนาความสามารถ เป็นตัวอย่างในการขยายผลการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรในชุมขน รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ สำหรับผลการประกวด ศพก. ดีเด่นระดับเขต ทั้งพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จะแจ้งให้ทราบต่อไป

2 3 4

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

5 6 7

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

🐷🐮🐔🦌🐐🐏🐄🐷🐮🐔🦌🐐🐏🐄🐷🐮🐔🦌🐐🐏🐄

#ครอบครัวปศุสัตว์ ทำด้วยใจ ทำให้ไว ทำได้จริง #สำนักงานปศุสัตว์เขต 9 รายงาน