b2512
ทุกวันคนต้องกิน ไม่ใช่กินอิฐ เหล็ก หิน หรือวัตถุต่าง ๆ แต่เป็น อาหาร อาหารที่ได้มาจากการผลิตเฉพาะจากภาคเกษตรเท่านั้น ประเทศที่เจริญแล้วทุกประเทศพยายามอย่างยิ่งที่จะดำรงไว้ซึ่งภาคการเกษตร เนื้อที่การเกษตร ทรัพยากรเพื่อการเกษตร และที่สำคัญสนับสนุนให้เกษตรกรยังคงเป็นเกษตรกร ตัวอย่างเช่น นโยบายปฏิรูปการเกษตรของญี่ปุ่น ซึ่งเน้นคุณค่าของการเกษตรพื้นฐานและวิถีชนบทในทิศทางที่ยั่งยืนโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศญี่ปุ่นพยายามสงวนแหล่งอาหารหลักเอาไว้ แม้ว่าจะผลิตได้ปริมาณน้อยก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้า (Naraomi, 1999)
สำหรับประเทศไทยซึ่งรากฐานคือการเกษตร แต่การเกษตรเป็นภาคที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยกว่าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เกษตรกรนับวันแต่จะอ่อนแอลง โดยเฉพาะช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ความแตกต่างระหว่างคนรวยในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมกับคนในภาคเกษตรมีอยู่มาก แรงงานในชนบทเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม มีการสร้างปัจจัยสนับสนุนการใช้เครื่องมือเครื่องจักรในการเกษตรกันมาก ประกอบกับคนส่วนใหญ่หลงความทันสมัยในวัตถุนิยมมากกว่าพิจารณาถึงความคุ้ม แรงงานวัวควายที่เคยใช้ในระบบการทำไร่ไถนาของเกษตรกรรายย่อยในชนบทถูกมองว่าล้าหลัง ครั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจกลางปี พ.ศ. 2540 แรงงานในภาคอุตสาหกรรมบางส่วนจึงถอยหลังกลับสู่ฐานรากทางการเกษตรในด้านต่าง ๆ แต่บางสิ่งบางอย่างหายไปจากวิถีชีวิตคนในชนบท ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ควายที่เคยใช้ไถพื้นที่เตรียมดินเพาะปลูกในหลายท้องที่ได้หลุดหายไปจากระบบการทำไร่ไถนาเกือบหมด…. ควายที่เคยเป็นเหมือนออมสินรายปี เป็นแรงงาน ขี้ออกมาก็ยังเป็นปุ๋ยให้พืช มีลูกก็ขายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง…. ปัจจุบันน้ำมันแพง แรงงานควายจะเป็นประโยชน์มากในวิถีชีวิตคนและการเกษตรในชนบท โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษเหมือนเช่นเครื่องจักรที่ต้องใช้น้ำมัน แต่การที่จะนำควายกลับมาสู่วัฒนธรรมเกษตรแบบไทย ๆ เพื่อให้อยู่รอดจากวิกฤตเศรษฐกิจและภาวะน้ำมันแพง คงต้องออกแรงกันอย่างมาก เพราะชาวบ้านขายควายออกไปเกือบหมดแล้ว ควายลดจำนวนลงจากประมาณ 4 ล้าน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เหลือเพียงประมาณ 1 ล้านตัวในปัจจุบัน

 

ทำไมชาวบ้านจึงขายควาย ?

ภาพที่เห็นเจนตาและน่าสลดใจ คือรถบรรทุกควายเข้าโรงเชือดคันแล้วคันเล่า นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและส่งเสริมการเลี้ยงควายเคยวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะควายราคาไม่ดี (ในอดีต) ไม่มีสิ่งจูงใจให้ชาวบ้านเลี้ยงควายอีกต่อไป ควายจึงถูกขายออก แต่ครั้นเมื่อควายมีราคาดีเกือบเทียบเท่าวัวตามที่เห็นในตลาดนัดวัวควายในชนบทในปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังคงขายควายต่อไปเพราะราคาดี โดยที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ควายอีกต่อไป เพราะสามารถหาซื้อหรือเช่ารถไถมาใช้เตรียมดินเพาะปลูกแทน เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว เคยมีการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านบางหมู่บ้านของจังหวัดสุรินทร์เลิกใช้แรงงานควายนั้นเป็นเพราะ
1) ขาดแรงงานในครัวเรือน แรงงานวัยทำงานอพยพมาทำงานในโรงงาน เหลือแต่แรงงานผู้อาวุโสซึ่งก็ทำไร่ไถนาไม่ไหวแล้ว
2) ค่านิยมและวัตถุนิยม ถ้าบ้านใดใช้รถไถดูมีฐานะทางเศรษฐกิจ และดูทันสมัยกว่า
3) มีแหล่งสินเชื่อให้กู้เงินซื้อรถไถ ซึ่งชาวบ้านบางรายเป็นหนี้เป็นสินด้วยการกู้นี้
4) สภาพฝนแล้ง
5) ขาดแหล่งอาหารเลี้ยงควาย
6) มีระบบการจ้างรถไถเดินตาม
(ผกาพรรณ บุณยะเวชชีวิน และคณะ 2537)
ปัจจัยเหล่านี้จึงสะท้อนว่าไม่ว่าควายราคาดีหรือไม่ ชาวบ้านก็ขายทั้งสิ้น ปัจจุบันชาวบ้านบางรายอยากกลับมาเลี้ยงควายอีก แต่ปัญหาคือควายมีราคาแพงเกินกว่าที่จะหาซื้อมาได้

 

ทำไมควายจึงลดจำนวนลง ?

ควายลดจำนวนลงเพราะคนไทยกินเนื้อควายกันมาก จากสถิติของกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันจำนวนควายมีเหลือประมาณสองล้านตัว และอาจเหลือน้อยกว่านี้มากถ้าไม่มีควายจากชายแดนลาว เขมร และไกลไปถึงเวียตนามคอยสนับสนุนให้คนไทยมีเนื้อควายบริโภคอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ นักวิชาการจากประเทศลาวเคยรายงานในการประชุมแห่งหนึ่งที่ประเทศเวียตนาม (การประชุมปฏิบัติการ Research Approaches and Methods for Improving Crop-Animal Systems in South East Asia) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2541 ว่า ประเทศลาวมีรายได้สูงจากการขายวัวควายมีชีวิตให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจซักไซร้ประเด็นนี้ ปรากฏว่า ลูกค้ารายใหญ่ก็คือประเทศไทยเรานี่เอง

ย้อนกลับมาถึงเรื่องคนไทยกินเนื้อควายกันมาก และอาหารที่โปรดปรานของคนไทยบางกลุ่มคือตัวอ่อนที่อยู่ในท้องแม่ควาย ควายท้องถูกฆ่าขายเนื้อที่โรงฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาการกินควายแบบล้างผลาญของคนบางกลุ่ม ชอบกินแบบพิสดาร เช่น ลูกควายในท้องแม่ ทำอย่างไรคนไทยจึงจะเลิกฆ่าควายท้อง ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มจำนวนแม่ควาย และให้แม่ควายได้มีโอกาสให้ลูกได้นาน ๆ ตราบที่แม่ควายยังมีความสมบูรณ์พันธุ์อยู่ ทำอย่างไรจึงจะให้ควายเพิ่มจำนวนขึ้นเพื่อคนในชนบทจะได้ใช้ประโยชน์ ไม่เฉพาะกินเนื้อ แต่ใช้แรงงาน และใช้ขี้ทำปุ๋ยให้แก่พืช ประหยัดเงินที่จะต้องซื้อปุ๋ยเคมีลงบ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะแก้ไขเพียงลำพังคงสำเร็จยาก ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย แต่ในความเป็นจริงต่างฝ่ายต่างก็ดำเนินการกันไป ถ้าหน่วยงานต่าง ๆ ประสานงานกันได้ ปัญหายาก ๆ อาจง่ายขึ้น

ควายในต่างแดน

ควายที่เคยรู้กันทั่วไปว่ามีอยู่ในแถบเอเชียนั้น ปัจจุบันได้กระจายไปในประเทศต่าง ๆ ทุกทวีปในโลกแล้ว ควายเนื้อและควายนมในโลกมีจำนวนอยู่กว่า 140 ล้านตัว ประมาณร้อยละ 7 อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศต่าง ๆ ในโลกที่มีจำนวนควายเป็นหลักล้านในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย จีน ปากีสถาน ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว พม่า เวียตนาม บังคลาเทศ เนปาล ในอาฟริกา ได้แก่ อียิปต์ และในอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล (Chantalakhana, 1991)
ประเทศที่ดั้งเดิมไม่เคยมีควายก็เริ่มหันมาเลี้ยงควายด้วยเล็งเห็นประโยชน์นานัปการ? เมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศเซเนกัลในทวีปอาฟริกา เคยมาซื้อควายงานประมาณ 20 ตัวจากประเทศไทยไปใช้เป็นควายงานแทนแรงงานคน ซึ่งได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ จนควายได้ออกลูกหลานเพิ่มจำนวนขึ้นมาก เมื่อครั้งเกิดสงครามในเกาะติมอร์ตะวันออก สหประชาชาติต้องส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปช่วยรักษาสถานการณ์ในเกาะติมอร์ตะวันออกในปี 2543 นั้น ทหารไทยได้เข้าไปสอนให้คนพื้นเมืองใช้ควายไถนาแทนม้าเพื่อปลูกข้าวในที่ลุ่ม ซึ่งก็ได้รับการยอมรับในเวลาไม่นานว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้ดี เหมาะสมกับสภาพการณ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้คนมีอาหารกินด้วยต้นทุนการผลิตต่ำ
ในซีกโลกตะวันตก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ซื้อควายจากเกาะกวมไปเลี้ยงเมื่อประมาณกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และได้ก่อตั้งเป็นสมาคมผู้เลี้ยงควายแห่งอเมริกาขึ้น ผลิตเนื้อควายออกสู่สายส่งเนื้อต่าง ๆ ภายในประเทศ โดยเฉพาะส่งเสริมให้เนื้อควายเป็นอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เพราะในเนื้อควายมีสารโคเลสเตอโรลต่ำกว่าเนื้อวัวมาก ในประเทศอังกฤษ ควายเข้าไปมีบทบาทอยู่ทางตะวันตกของประเทศ มีเกษตรกรประมาณ 40 รายหันมาเลี้ยงควาย มีควายอยู่ประมาณ 2,000 ตัว หรือประมาณ 50 ตัว/ราย จากการที่ประเทศอังกฤษเกิดโรควัวบ้า (BSE) ระบาด ตลาดเนื้อวัวและตลาดนัดน้ำนมพังระนาว เพราะผู้บริโภคไม่ยอมซื้อ เกษตรกรหัวใสจึงนำควายมาเลี้ยง ราคาน้ำนมควายได้แพงเป็นสามเท่าของน้ำนมวัวทีเดียว น้ำนมควายนำมาทำเป็นไอศครีม โยเกิร์ต และเนยแข็งมอซเซอเรลลาซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในยุโรปและมีราคาแพง เนื้อสเตคควายกำลังติดตลาดผู้บริโภค เพราะปลอดภัยจากเชื้อโรควัวบ้า แถมโคเลสเตอโรลในเนื้อก็ต่ำ เกษตรกรอังกฤษผู้เลี้ยงควายกล่าวว่า ควายเลี้ยงง่าย (กว่าวัว) ยังไม่เคยพบการเกิดโรคเต้านมอักเสบ ไม่มีปัญหาคลอดยากหรือขาเจ็บ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะกับควายที่เลี้ยงเลย กลุ่มเกษตรกรอังกฤษตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 5 ปี พวกเขาจะต้องมีควายให้ถึง 5 พันตัว เพื่อให้ตลาดควายมาทดแทนตลาดวัวที่ซบเซา (AWBA, 1999) ควายในอังกฤษมาจากไหนไม่ได้ระบุแน่ชัด ผู้เขียนคาดการณ์ว่านำเข้ามาจากประเทศทางทวีปยุโรปด้วยกัน ประเทศที่มีควายมากในทวีปยุโรป คือ โรมาเนีย (มากกว่า 2 แสนตัว) รองลงมาได้แก่ อิตาลี ยูโกสลาเวีย และบัลกาเรีย ประเทศเหล่านี้เลี้ยงควายเพื่อผลิตนมและเนื้ออย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ล่าสุด สามีภรรยาคู่หนึ่งในประเทศแคนาดา ได้นำเข้าควายนม 19 ตัวจากประเทศบัลกาเรีย ผ่านมาทางประเทศเดนมาร์ค เมื่อเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2543 แต่กว่าจะผ่านกระบวนการกักกันโรคก็ใช้เวลานานเป็นปี เพราะประเทศแคนาดาไม่เคยมีควาย ผู้นำเข้าต้องพึ่งคำตัดสินของศาลเพื่อที่จะเลี้ยงควายนมดังกล่าว ต่อมาแม่ควายได้ตกลูกมาเป็นลำดับ ปัจจุบันประเทศแคนาดามีความนม 33 ตัว ( AWBA, 2001)

คนไทยลืมควาย

ทำไมคนไทยจึงลืมพัฒนาควาย ทำไมคนไทยจึงปล่อยให้จำนวนควายไทยลดดิ่งลงจนเหลือเพียง 1 ล้านเท่านั้น เหตุผลบางประการได้กล่าวไปบ้างแล้วจากผลการศึกษาข้างต้น ขอหยิบยกข้อเขียนของชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาดูการแข่งควายที่ชลบุรีเป็นประจำ เขาบอกว่า "การแข่งควายอาจเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยอนุรักษ์ควายให้คงอยู่ได้ในประเทศไทย" จากการที่พบว่าประเทศไทยเรายังมีควายที่ตัวโต น้ำหนักมากกว่า 1 ตัน ให้เห็นอยู่ (AWBA, 1999) คนไทยส่วนใหญ่ยังคงค้นไม่พบของดีเมืองไทย วัฒนธรรมเกษตรที่ดีของไทย สายตาแลเลยไปมองแต่สัตว์เศรษฐกิจของชาวตะวันตก พยายามจะนำเข้ามาพัฒนาโดยไม่ให้ความสนใจพัฒนาสัตว์พื้นเมืองที่มีอยู่เท่าที่ควร บทความวิเคราะห์สถานภาพประเทศไทยและคนไทยในหัวข้อเรื่อง "Thailand : Beyond Sex and Golf" ที่ทำให้คนไทยบางส่วนโกรธนักโกรธหนาที่ถูกระบุว่ามีเพียง "Sex" และ "Golf" เท่านั้นที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย คงต้องคิดอย่างใจเป็นธรรม บทความนั้นเขียนถึงความล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยประการสำคัญประการหนึ่งคือ "คนไทยเดินตามก้นชาวตะวันตก" โดยไม่มองตัวเอง (Wehrfritz and handley, 1999) ย้อนกลับมาพิจารณาวิกฤตจำนวนควาย ก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า พฤติกรรมคนไทยไม่ค่อยคิดพัฒนาสัตว์พื้นเมืองไทยเราเอง
น่าจะถึงเวลาที่เราคนไทยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันใหม่ได้แล้ว หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งใกล้ตัว ช่วยกันพัฒนาควายพื้นเมืองให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจเหมือนดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต ให้เป็นสัตว์ที่ช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นแหล่งอาหารโปรตีน แรงงาน ที่ยั่งยืนของชาวชนบทและประชากรไทย

--------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ผกาพรรณ สกุลมั่น
นักวิชาการเกษตร 8 (ชำนาญการ)
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือและโค
สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์