s15-4

 สกว. - วิจัยใช้สมุนไพรบำบัดโรคผึ้ง ชี้ชะเอมและอบเชยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและราก่อโรคได้ ไร้สารพิษตกค้าง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค หวังทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ สร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งไทยแข่งตลาดโลก
       
       ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งนับเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ควรได้รับการส่งเสริมเพราะนอกจากไม่ต้องยึดครองพื้นที่ในการทำกินแล้วยังให้ผลผลิตที่ให้ประโยชน์มากมายมหาศาล สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมได้หลากหลาย อาทิ น้ำผึ้ง เกสร นมผึ้ง หรือ ไขผึ้งที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และเทียนไข ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาทโดยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ
       
       หากแต่ทุกวันนี้อุตสาหกรรมแมลงเศรษฐกิจชนิดนี้ ยังคงประสบกับปัญหา โรคผึ้ง ศัตรูตัวฉกาจ ยิ่งเฉพาะโรคที่เกิดจากแบคทีเรียรุนแรงแล้วนั้น ส่งผลกระทบให้ผลผลิตในแต่ละปีลดลงสร้างความเสียหายต่อเกษตรอย่างมาก โครงการ : การศึกษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรียและเชื้อราในผึ้งพันธุ์และผึ้งโพรงและการใช้สารสกัดจากธรรมชาติในการบำบัด โดย ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงเกิดขึ้น 
 ดร.ภาณุวรรณ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนขณะนี้สำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งคือ การแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคที่เกิดจากจุลินทรีย์ในตัวอ่อนผึ้ง เช่น โรคจากเชื้อราชอล์คบรูด (Chalkbrood) โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น โรคตัวอ่อนเน่า (American foulbrood) และโรคตัวอ่อนเน่ายูโรเปียน (European foulbrood) เนื่องจากโรคเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายทำให้ตัวอ่อนผึ้งตาย อีกทั้งยังมีการแพร่ระบาดง่ายและรวดเร็วหากไม่มีการป้องกัน
       
       แนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมาของเกษตรทั่วโลกจะใช้วิธีบำบัดและควบคุมโรคในผึ้งที่เกิดจากจุลินทรีย์โดยใช้สารปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน (tetracycline) ทำให้มีสารตกค้างอยู่ในน้ำผึ้ง อันเป็นชนวนก่อให้เกิดปัญหาการกีดกันทางการค้าตามมา ในปี 2545 น้ำผึ้งจากประเทศจีนถูกห้ามการส่งออก โดยทาง Food Standard Agency มีการตรวจพบสารปฏิชีวนะ Streptomycin และ chloramphenical ในน้ำผึ้งที่นำเข้าจากจีน กระแสการต่อต้านการใช้สารปฏิชีวนะในการบำบัดและป้องกันโรคที่เกิดจากแบคทีเรียจึงเกิดขึ้น อีกทั้งในประเทศกลุ่มยุโรปยังได้ออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวกับสัตว์ทุกประเภทตั้งแต่ปี 2537 (Food standard agency, 2002)
โดยขณะนี้ในประเทศผู้ซื้อผลิตภัณฑ์จากผึ้งยังได้ตื่นตัวตรวจสอบสารดังกล่าวในน้ำผึ้งทั้งหมดที่นำเข้าจากประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทย
       

       การเลิกใช้สารปฏิชีวนะในการรักษาโรคผึ้งไม่เพียงมาจากปัญหาการตกค้างในน้ำผึ้งเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังพบว่าจุลินทรีย์บางชนิดสามารถต้านทานต่อยาปฏิชีวนะได้ จึงทำให้ยังไม่มีหนทางการรักษาใดที่ให้ประสิทธิผลนัก บางประเทศในแถบยุโรปถึงกับแก้ปัญหาด้วยมาตรการให้เผารังผึ้งทิ้งภายใน 24 ชั่วโมงหากตรวจพบว่าเกิดโรคตัวอ่อนเน่า (American foulbrood)ยังสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วโลก
การนำสารสกัดจากธรรมชาติมาใช้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะสามารถนำมาใช้ในการรักษาควบคุมโรคในผึ้งได้และไม่มีสารตกค้างมาสู่ผู้บริโภคด้วย อีกทั้งจากการศึกษาพบว่าสารสกัดธรรมชาติจากพืชบางชนิดนั้นมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์บางอย่างได้ รวมถึงนมผึ้งหรือรอยัลเจลลี่(royal jelly)ที่เป็นแหล่งอาหารของตัวอ่อนผึ้งและพรอพอลิส(propolis) ซึ่งเป็นสารป้องกันเชื้อโรคในรังผึ้ง ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงได้ค้นหาสารประกอบธรรมชาติตัวใหม่ที่สามารถต้านทานจุลินทรีย์ทำให้เกิดโรคในผึ้งและทำการทดลองใช้สารสกัดดังกล่าวทั้งในห้องปฏิบัติการและเพื่อการประยุกต์ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง
       
       ดร.ภาณุวรรณ กล่าวต่อว่า งานวิจัยนี้ได้เร่งสำรวจโรคในตัวอ่อนผึ้งแถบภาคเหนือตอนบนและนำมาแยกเชื้อในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุและบ่งชนิดเชื้อต้นตอของโรคที่ถูกต้อง จากนั้นนำตัวอย่างเชื้อก่อโรคที่แยกได้มาทำการทดสอบกับสารสกัดสมุนไพรเพื่อหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต้านเชื้อรังผึ้ง โดย
ขณะนี้พบว่า สารสกัดชะเอมและกานพลูสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย(Melisscoccus plutonius)สารสกัดอบเชยและพลูออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา(Ascoshaera apis)ได้ดีที่สุด สารสกัดจากสมุนไพรประเภทผสมจึงเป็นวิธีหนึ่งในการควบคุมโรคผึ้ง
       

       จากการศึกษาไม่เพียงทำให้เราพบสารสกัดสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อก่อโรคในไทยแล้ว ยังได้มีโอกาสทดสอบกับเชื้อก่อโรคที่แยกได้จากในรังผึ้งของประเทศออสเตรเลีย เยอรมัน และญี่ปุ่นพบว่าสารสกัดจากสมุนไพรที่ค้นพบสามารถยับยั้งเชื้อก่อโรคเหล่านี้ได้เช่นกัน 
 อย่างไรก็ตามในส่วนของการนำไปใช้จริงในระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการเพื่อทดสอบว่าสารสกัดจากธรรมชาติยังสามารถออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราและจุลินทรีย์ได้ประสิทธิภาพที่ดีเท่าเดิมหรือไม่ หากพบว่าได้ผลสำเร็จเชื่อว่าไม่เพียงสามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตและรายได้อย่างมหาศาลแล้ว ยังส่งผลให้การสร้างสินค้าจากผลิตภัณฑ์ผึ้งไทยมีมาตรฐานทัดเทียมได้กับนานาประเทศด้วย
       
       นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งสองสายพันธุ์ได้แก่ ผึ้งโพรงและผึ้งพันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงเพิ่มขึ้นลดการบุกทำลายรังผึ้งป่าอย่างผึ้งหลวงไปได้ จึงถือเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์ผึ้งในประเทศไทยได้ต่อไป