goat1

           บทนำ " เกษตรกรคนหนึ่ง มีความต้องการทำการเกษตรอย่างหนึ่งโดยไม่ให้ความสนใจกับชุมชนรอบข้าง โอกาสที่ทำให้ชุมชนเจริญเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเกษตรกรในชุมชนมีความต้องการทำการเกษตรโดยผ่านความเห็นชอบและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก โอกาสที่ทำให้ชุมชนนั้นเจริญเป็นไปได้มาก "

               การเลี้ยงแพะของเกษตรกรรายย่อยโดยทั่วๆไปต่างคนต่างเลี้ยง จุดประสงค์ในการเลี้ยงขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน เช่น เพื่อเป็น อาชีพเสริม , บริโภค , ทำพิธีทางศาสนา , งานอดิเรก , ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หรือเพื่อต้องการที่จะได้เพื่อนร่วมอาชีพ เพิ่มขึ้น การเลี้ยงแพะโดยทั่วไปทุกคนจะพบเจอปัญหากันบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อเจอปัญหาก็ต้องหาคนที่มีความรู้เข้ามาช่วยแก้ไข เช่น เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือบุคคลที่เคยเลี้ยงแพะมาก่อน เมื่อมาพูดคุยกันบ่อยๆก็จะรู้ถึงความต้องการของแต่ละคน ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม กลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพา ก็เช่นกัน เริ่มจากมีเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงแพะของอำเภอเทพาที่มีอยู่กระจัดกระจายทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม พบปะพูดคุยด้านการเลี้ยงแพะกัน มีการรวมกลุ่มกันเองตามธรรมชาติ ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ มีการพบปะพูดคุยกันเมื่อหลาย ๆ ครั้งจึงมีการนัดประชุมเพื่อวางกฎเกณฑ์ของกลุ่มขึ้น โดยมีการนัดประชุมครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2543 ซึ่งถือว่าเป็นยุคเปลี่ยนของรูปแบบและวิธีการเลี้ยงแพะของเกษตรกรอำเภอเทพา ซึ่งทางกลุ่มได้เชิญเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ (นายจิระศักดิ์ อรุโณทัยสกุล ปศุสัตว์อำเภอเทพาและ นายสุชาติ ตุลยกุล เจ้าพนักงานสัตวบาล) เข้าร่วมประชุมเพื่อเป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม มีการระดมความคิดหาแนวทางพัฒนากลุ่ม จากที่ประชุม สมาชิกได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ และระเบียบของกลุ่มชัดเจน นัดประชุมกันทุกวันพุธแรกของทุกเดือน พร้อมทั้งสมาชิกได้เสนอชื่อกลุ่มว่า กลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพา การดำเนินกิจกรรมกลุ่มทุกแห่งจะมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนากลุ่มแบบยั่งยืน กลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพา ก็ได้วางเป้าหมายนี้ไว้เช่นกัน โดยยึดดั่ง



คำว่า สมาชิกทุกคนมีความสนใจร่วมมีผลตอบแทนร่วม

กลุ่มวางกรอบระเบียบชัดเจน ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ เสริมอย่างต่อเนื่อง

เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับกลุ่มและเพื่อนสมาชิก

 

goat

 

 


ระเบียบกลุ่มและกิจกรรมเสริมอื่น ๆ ที่เป็นหัวใจหลักมีดังนี้


  •        การประชุมกลุ่มทุกวันพุธแรกของทุกเดือน เป็นการประชุมสัญจรเพื่อไปเยี่ยมเยืยนบ้านเพื่อนสมาชิกเดือนละหนึ่งราย ใครขาดประชุมจะต้องถูกเสียเงินค่าปรับครั้งละ 50 บาท ต่อคน จะหยุดประชุมกลุ่มต่อเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่น เดือนรอมฎอล (ช่วงถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม) พร้อมกับดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมดังนี้
         - การลงแขกทำงานร่วมกัน ให้กับเพื่อสมาชิกที่เป็นเจ้าของบ้านที่ใช้ประชุมในแต่ละครั้ง เช่น ร่วมกันสร้างคอกแพะ การพัฒนาแปลงหญ้าและช่วยดูแลสุขภาพแพะในฟาร์ม
         - การประชุมกลุ่ม เพื่อรับทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่ม สอบถามปัญหาอุปสรรคพร้อมทั้งหา วิธีแก้ไข และสอบถามความก้าวหน้าของสมาชิกกลุ่ม
         - การฝากเงิน 
         - กู้เงินออมทรัพย์ ของสมาชิกกลุ่ม
         - รับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อนสมาชิกที่เป็นเจ้าของบ้านเป็นคนจัดการด้านอาหาร เพื่อเลี้ยงสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นการสร้างความสมานสามัคคีให้เกิดกับสมาชิกกลุ่ม สมาชิกสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้ง ผู้นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม เสมือนเป็นญาติพี่น้องกัน
         - นัดหมายสถานที่เพื่อจัดประชุมสัญจรเดือนต่อไป เป็นที่ชัดเจน 
         - กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ แม้นกลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพาจะมีสมาชิกกลุ่มเพียง 10 คน แต่กลุ่มได้ตระหนักถึงแหล่งเงินทุนของสมาชิกกลุ่ม จึงให้สมาชิกทุกคนมีการออมทรัพย์เดือนละ 100 บาท เมื่อมีเงินออมทรัพย์ได้เกิน 10,000 บาท ก็เริ่มเปิดโอกาสให้สมาชิกได้กู้เงิน โดยให้กู้รายละไม่เกิน 3,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 บาท/ปี (มีการปันผลคืนแบบระบบสหกรณ์) เมื่อมีเงินสะสมเกิน 15,000 บาท เริ่มให้สมาชิกกู้ยืมได้รายละไม่เกิน 5,000 บาท กำหนดส่งคืนกลับไม่เกิน 10 เดือนส่งเดือนละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ปัจจุบันกลุ่มมีเงินออมทรัพย์สะสมประมาณ 30,000 บาท สมาชิกมีการกู้ยืมเงินไปแล้ว 11 ครั้งจำนวน 8 ราย เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท จากการระดมเงินทุนออมทรัพย์นี้ทำให้สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้มีโอกาสขยายกิจการฟาร์มเลี้ยงแพะให้มีขนาดใหญ่โตขึ้นไม่ต้องไปหยิบยืมเงินกู้จากเงินนอกระบบอื่น ๆ ปัจจุบันการคิดอัตราดอกเบี้ยหรือเงินบำรุงกลุ่มได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ เพื่อให้ตรงตามหลักศาสนาอิสลามและเรื่องความสะดวกในการคิด ก็ได้เปลี่ยนเป็น กู้ 5,000 บาท ให้หักเงินบำรุงกลุ่มไว้ 500 บาท เงินบำรุงกลุ่ม เมื่อสิ้นปีก็มี การปันผลกลับ คืนให้กับผู้กู้ 40 % ปันผลให้กับสมาชิกกลุ่มทุกคน 40 % ที่เหลือเอาเข้ากลุ่มเพื่อใช้ใน กิจกรรมกลุ่ม 20 % 
         - ขอรับการสนับสนุนจากส่วนราชการอื่น ๆ ดังนี้
         - สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเทพา สนับสนุนกิจกรรมกลุ่มปรับปรุงพันธุ์แพะ โดยกรมปศุสัตว์สนับสนุนเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มเป็นเงิน 91,180 บาท สามารถจำแนกเป็นมูลค่าที่สมาชิกได้รับต่อราย ดังนี้
- ค่าแพะพ่อพันธุ์ 1 ตัว แพะแม่พันธุ์ 3 ตัว
- ค่าอาหารข้นระยะปรับตัว
- ค่ายาถ่ายพยาธิและวัคซีน
- ค่าแร่ธาตุก้อน


เป็นเงิน 8,000 บาท
เป็นเงิน 780 บาท
เป็นเงิน 138 บาท
เป็นเงิน 200 บาท
------------------------------
รวมเป็นเงิน รายละ 9,118 บาท

พร้อมส่งสมาชิกเข้าร่วมการฝึกอบรมเรื่องการเลี้ยงแพะ ที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาปศุสัตว์เขต 9
     - นิคมปกครองสร้างตนเองเทพา อ.เทพา จ.สงขลา สนับสนุนแม่พันธุ์แพะ เพื่อให้สมาชิกยืมเลี้ยงจำนวน 10 ตัว 
     - องค์การบริหารส่วนตำบลท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา สนับสนุนงบประมาณเพื่อให้กลุ่มจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาสัตว์ อาหารสัตว์ มาไว้บริการสมาชิกกลุ่มจำนวน 20,000 บาท
     - ศูนย์บริการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเทพา จ.สงขลา สนับสนุนการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นหลักสูตร การเลี้ยงดูและรักษาโรคแพะ แก่สมาชิก พร้อมสนับสนุนเวชภัณฑ์ มูลค่า 4,000 บาท
     - งานเลี้ยงสรรค์ประจำปี ของสมาชิกทุกกลุ่ม ปีละครั้ง วันที่ 9 มกราคม ของทุกปี เป็นการเลี้ยงร่วมกับงานปีใหม่ สมาชิกทุกคนและแขกผู้มีเกียรตินำอาหารมารับประทานร่วมกัน เก็บเงินคนละเท่า ๆ กันเพื่อนำไปซื้อของขวัญแล้วมาจับรางวัลกัน พร้อมทั้งจัดการละเล่น นันทนาการ ของสมาชิกทุก ๆ กลุ่ม
     - จัดงานหาเงินเข้ากลุ่ม (กินน้ำชา) โดยสมาชิกร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานดังกล่าว ซึ่งผลจากการ จัดงานได้รับเงินก็เอาสมทบสร้างที่ทำการกลุ่ม สมาชิกลงแรงร่วมกัน ที่ทำการกลุ่มปัจจุบันก็สร้างเสร็จ เกือบ 100 % ซึ่งเหรัญญิกกลุ่ม (จสอ. สว่าง สังข์น้อย) ได้ให้สถานที่และทุนสนับสนุนเพิ่มเติมในการ ก่อสร้างที่ทำการกลุ่ม

ทุนสนับสนุนกลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพา
หน่วยงาน
เงิน (บาท)
เงินออมทรัพย์ของสมาชิก
30,000
กรมปศุสัตว์
91,180
นิคมปกครองสร้างตนเองอำเภอเทพา จ.สงขลา
20,000
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา
20,000
ศูนย์บริการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเทพา จ.สงขลา
(พร้อมค่าวิทยากรที่บริจาคให้กลุ่ม)
9,600
                                                                               รวม 170,780
ที่มา : กลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพา 15 มีนาคม 2546
  •  ระบบการบริหารกลุ่มแบบเครือข่าย
    การบริหารกลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพา ถึงแม้นมีสมาชิกเพียง 10 คน แต่ยึดถือกระบวนการกลุ่ม เป็นหลัก มีการขอมติกลุ่มเพื่อการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ยึดหลักประชาธิปไตย เพื่อให้กลุ่มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สมาชิกจะคัดเลือกตัวแทนขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อบริหารกลุ่ม ซึ่งตำแหน่งต่าง ๆ ภายในกลุ่มประกอบด้วย
         - ประธาน มีหน้าที่ เป็นตัวแทนกลุ่มเพื่อประสานกับกลุ่มอื่น ๆ หรือหน่วยงานต่าง ๆ และดำเนินการประชุมสมาชิกกลุ่ม
         - รองประธาน มีหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน ขณะที่ประธานไม่อยู่
         - เหรัญญิก มีหน้าที่ เกี่ยวกับด้านการเงินของกลุ่มทุกอย่าง ดังนี้
         - ด้านออมทรัพย์สัจจะของสมาชิกกลุ่มทั้งการฝาก - กู้ ทุกเดือน
         - ด้านจัดซื้ออาหารและเวชภัณฑ์สำหรับแพะ ไว้บริการสมาชิกทุกกลุ่ม
         - ด้านจัดสรรเงินปันผลประจำปี ให้กับสมาชิก
         - ด้านอื่น ๆ เนื่องจากสมาชิกไว้วางใจและมีความเหมาะสม จึงได้สร้างที่ทำการกลุ่มไว้ที่บ้านเหรัญญิก ทำให้เป็นที่รับรองเกษตรกรที่มาดูงานด้วย
         - ปฏิคมมีหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวสารต่าง ๆ ให้สมาชิกกลุ่มทราบและเก็บข้อมูลจำนวนแพะของสมาชิกกลุ่ม
         - ฝ่ายการตลาด มีหน้าที่เป็นระบบเครือข่ายการตลาด สอบถามจำนวนแพะที่มี และที่สมาชิกต้องการซื้อ-ขายแล้วส่งข้อมูลรวมไว้ที่ฝ่ายการตลาดของกลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพา เมื่อมีบุคคลภายนอกต้องการซื้อแพะก็สามารถติดต่อสอบกับฝ่ายตลาดได้โดยตรง 
         - เลขานุการกลุ่ม มีหน้าที่ จัดเตรียมวาระการประชุม เตรียมข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้กับคณะกรรมการกลุ่มและสมาชิกกลุ่ม จดบันทึกการประชุม
         - กรรมการ หมายถึงสมาชิกทุกคน มีหน้าที่ ออกความคิดเห็น กำหนดวัตถุประสงค์ ระเบียบข้อตกลงและปฏิบัติตามมติของกลุ่มเครือข่ายความสัมพันธ์กลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพากับกลุ่มเลี้ยงแพะอื่น ๆ
    กลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพา ติดต่อกับกลุ่มเลี้ยงแพะอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย กลุ่มเลี้ยงแพะตำบลท่าม่วง กลุ่มพัฒนาเทพา กลุ่มควนติหมุน และกลุ่มเทศบาลเทพา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้จัดตั้งใหม่ โดยผ่านการคัดเลือก ของสมาชิกกลุ่มลุ่มน้ำเทพา และกลุ่มตำบลท่าม่วง โดยกลุ่มพัฒนาเทพาได้มีการประชุม พร้อมกับกลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพายึดถือกลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพาเป็นต้นแบบในการบริหารกลุ่ม เมื่อกลุ่มเลี้ยงแพะต่าง ๆ มีการประชุมบ่อยครั้งจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น ชมรมผู้เลี้ยงแพะอำเภอเทพา การเลือกตั้งคณะกรรมการชมรม โดยผ่านการคัดเลือกจากตัวแทนของกลุ่มเลี้ยงแพะทุกกลุ่ม ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานชมรมคนแรกคือ จสอ. สว่าง สังข์น้อย หรือเหรัญญิกของกลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพานั่นเอง สำหรับสถานที่ทำการชมรม ใช้สถานที่เดียวกับกลุ่มเลี้ยงแพะลุ่มน้ำเทพา ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาต่อเนื่องของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและส่งผลต่อความยั่งยืนของระบบเครือข่าย
  •            
               การพัฒนาเครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงแพะเป็นชมรมผู้เลี้ยงแพะอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ส่งผลถึงแนวโน้มถึงความยั่งยืนของการพัฒนาการเลี้ยงแพะของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ชมรมผู้เลี้ยงแพะอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ ของสมาชิก เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลผู้เลี้ยงแพะทุกกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายในอำเภอเทพา ชมรมมีการประชุมเดือนละครั้ง หมุนเวียนไปตามกลุ่มเลี้ยงแพะต่าง ๆ ผู้เข้าประชุมคือ คณะกรรมการกลุ่มเลี้ยงแพะทุกกลุ่ม คณะกรรมการชมรมคัดเลือกจาก คณะกรรมการกลุ่มเลี้ยงแพะทุกกลุ่ม ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เหรัญญิก และเลขานุการชมรม มีหน้าที่ แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ แล้วขอมติจากที่ประชุม และกำหนดบทบาทต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาชมรมผู้เลี้ยงแพะอำเภอเทพาต่อไป

  •            ผลประโยชน์ของกลุ่มเลี้ยงแพะต่างๆที่ร่วมชมรมเลี้ยงแพะอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
    สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงแพะทุกกลุ่ม มีระเบียบข้อตกลงของกลุ่มชัดเจน แต่ละกลุ่มมีข้อตกลงทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกันไป ขึ้นกับสภาพพื้นที่ ความต้องการและความพึงพอใจของสมาชิก ชมรมจึงเป็นส่วนสนับสนุนให้กลุ่มเลี้ยงแพะต่างๆมีการพัฒนาไปข้างหน้าแบบยั่งยืน รวมตัวกันระหว่างกลุ่มเข้มแข็ง
    ทุกกลุ่มเดินทางไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างมั่นคง ชมรมคอยประสานหาทุนสนับสนุนแล้วนำมาบริการสมาชิกทุกราย ที่เห็นได้ชัดเจนและดำเนินการมาแล้วดังนี้
    - เป็นศูนย์กลางข้อมูลการตลาดแพะอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
    - บริการสวัสดิการ เวชภัณฑ์ - อาหารแพะ ในราคาถูกกว่าท้องตลาด
    - ประสานจัดหา เวชภัณฑ์ - อาหารสัตว์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยามเกิดภัยธรรมชาติ
    - ประสานจัดหาปัจจัยการผลิตอื่นๆ เพื่อสร้างความหลากหลายในการประกอบอาชีพของสมาชิก จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์การเลี้ยงปลาบ่อพลาสติก พันธุ์ปลา จากสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา พันธุ์พืช จากสำนักงานเกษตรอำเภอ ฯ
    - สนับสนุนให้สมาชิกกลุ่มใหม่ ได้ยืมแม่พันธุ์แพะจากชมรม ไปเลี้ยงรายละ 2 ตัว กลุ่มละประมาณ 20 ตัว
    - ประสานจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี
    - ติดตามดูแลสุขภาพแพะของสมาชิกทุกกลุ่ม มีการคัดเลือกสมาชิกตัวแทนมาเป็นหมออาสาด้านปศุสัตว์เพื่อดูแลสุขภาพแพะ ของสมาชิก 3 คน

  •          ตลาดแพะอำเภอเทพา ระบบการซื้อ - ขายแพะพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ยังไม่สามารถดำเนินการได้เหมือนสัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ไก่เนื้อ สุกร โคเนื้อ เนื่องจากแพะยังมีน้อยจึงไม่สามารถซื้อ-ขายแพะมีชีวิตหรือเนื้อแพะในตลาดสดได้ (ข้อมูลสอดคล้องกับผลงานวิจัย ระบบตลาดแพะ ของ ธัญญา สุขย้อย , 2541) แต่พื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีข้อพิเศษกว่าที่อื่นคือมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเนื้อแพะ " ร้านข้าวหมกแพะ " ของนายสัน หมีนเส็น ตั้งอยู่ที่สี่แยกพระพุทธ ถนนสายจะนะ - ปัตตานี เส้นทางไปปัตตานี ฝั่งซ้ายมือ เลขที่ 266 หมู่ที่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา หมายเลขโทรศัพท์ 01-8980984 จำหน่ายอาหารประเภท ข้าวหมกแพะ แพะตุ๋นยาจีน มัสมั่นแพะ ต้มยำแพะ ฯ ที่ร้านดังกล่าวรับซื้อแพะมีชีวิตของสมาชิกราคาประกันขั้นต่ำ 80 บาทต่อ 1 กิโลกรัม เดือนหนึ่งแปรรูปแพะประมาณ 20-30 ตัว อีกประการพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีประชากร 65,450 คน ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ถึง 75 % ( ฝ่ายทะเบียนราษฎร์ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา : 18 มีนาคม 2546) อาชีพของราษฎรทำการประมงทางทะเล และเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาก จึงทำให้มีการใช้ แพะบริโภค ทำพิธีทางศาสนาและความเชื่อ (การบนบาน) มากกว่าที่อื่น
  •  
              สรุปและข้อเสนอแนะ กลุ่มเลี้ยงแพะอำเภอเทพา สามารถพัฒนาเติบโต รวบรวมเครือข่าย จนเป็นชมรมผู้เลี้ยงแพะอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ได้ในวันนี้ เพราะสมาชิกมีความสนใจร่วมและได้รับผลตอบแทนร่วม สมาชิกทุกคนมีความตั้งใจพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ เสียสละ สามัคคี ด้านการเลี้ยงแพะ สมาชิกมีระบบการจัดการฟาร์มที่ดีวางแผนปรับปรุงพันธุ์ในระยะยาวสถานีวิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์เทพา จังหวัดสงขลา สนับสนุนพ่อพันธุ์แพะพันธุ์ดี นำโครงการวิจัยทดสอบพันธุ์และกระจายพันธุ์แพะในระดับเกษตรกรรายย่อย โดยการเปิดฝูงผสมพันธุ์ให้สมาชิกสมัครเข้าร่วมโครงการ มีการเก็บบันทึกประวัติพันธุ์แพะในฟาร์ม ปัจจุบันจึงมีแพะที่มีสายเลือดพันธุ์ดี มีพันธุ์ประวัติเพิ่มมากขึ้น ด้านการบริหารกลุ่ม ยึดกระบวนการของกลุ่ม กลุ่มอยู่อย่างสันติ เข้มแข็งเป็นที่สนใจของเกษตรกรโดยทั่วไป มีเกษตรกรและผู้สนใจมาดูงานเป็นประจำ ชมรมยังต้องมีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้า คณะกรรมการมีความ เสียสละเพื่อส่วนรวม ปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก มีวิสัยทัศน์ วางรูปแบบพัฒนาในทิศทางที่สามารถทำให้สมาชิกผู้เลี้ยงแพะยึดถือเป็นอาชีพที่ยั่งยืน ชมรมต้องเพิ่มความหลากหลายในกิจกรรมดำเนินการ เพราะถ้า ผู้เลี้ยงแพะอยู่ได้ ชมรมก็อยู่ได้ แต่ถ้าผู้เลี้ยงแพะล้มเลิก ชมรมก็ต้องยุบเลิกเช่นกัน เมื่อผู้เลี้ยงแพะมีความเจริญก้าวหน้าฟาร์มแพะขยายเรื่อยๆ ต่อไปก็สามารถส่งออกได้ ดังเช่นคำขวัญกรมปศุสัตว์ปัจจุบันว่า " ปศุสัตว์ปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย 60 ปี ปศุสัตว์ไทยก้าวไกล สู่สากล "
     
    goat2