นกกระจอกเทศ OSTRICH (Struthio Camclus) เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดและบินไม่ได้มีถิ่นกำเนิดที่ทวีปอาฟริกาเป็นสัตว์ในตระกูล Struthionilac
- ตัวผู้ เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงถึง 2.5 เมตร กึ่งหนึ่งเป็นความสูงของสำคอและศรีษะ หนักราว 155 กิโลกรัม
- ตัวเมีย จะมีขนาดเล็กกว่า ไข่นกกระจอกเทศโดยเฉลี่ยแล้วมีความยาว 150 มิลลิเมตร หนัก 1.35 กิโลกรัม เป็นไข่ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
นกกระจอกเทศส่วนใหญ่จะมีขนสีดำ ส่วนหางและปีกเป็นขนสีขาว นกตัวเมียส่วนมากขนสีน้ำตาล ส่วนหัวมีสีชมพูและฟ้า มักเป็นขนอ่อน ส่วนขาไม่มีขน ศรีษะเล็ก จงอยปากสั้นและแบน ตาโตขนตามีสีน้ำตาลปนดำ ธรรมชาติของนกกระจอกเทศชอบอยู่กันเป็นฝูงราว 5 – 50 ตัว กินพืชเป็นอาหาร ส่วนเท้ามีนิ้ว 2 นิ้ว แข็งแรงจนเป็นกีบ เมื่อตกใจหรือถูกรุกรานจากคนหรือสัตว์กินเนื้อจะวิ่งหนีได้ในอัตราความเร็วถึง 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในยามคับขันจะใช้เท้าเตะคู่ต่อสู้
ตั้งแต่ปีค.ศ.1950เป็นต้นมามีผู้ค้นคว้าพบว่าเนื้อนกกระจอกเทศเป็นเนื้อสัตว์ชนิดเดียวที่เทียบชั้นได้กับเนื้อวัวทั้งยังมีแคลลอรีไขมันและคลอเลสเตอรอลต่ำกว่า นับว่าเป็นข่าวสะเทือนวงการนักชิมทั้งหลาย ปัจจุบันสหรัฐอเมริกานำเข้าเนื้อนกกระจอกเทศปีละ 150,000 ตัวเป็นอย่างน้อยและในปี ค.ศ. 1992 นกกระจอกเทศสำรวจได้ทั่วโลกมีจำนวนเพียง 151,000 ตัว โดย 95 % อยู่ในอาฟริกาใต้
ตั้งแต่ ค.ศ. 1987 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาเริ่มทำการขยายพันธุ์ด้วยวิธีผสมเทียมจวบจนปี ค.ศ. 1995 มียอดแม่พันธุ์ 150,000 คู่และในแต่ละปีส่งนก 40 % คือราว 120,000 ตัวสู่ตลาดแม้มูลค่าตลาดเนื้อและเครื่องหนังของสหรัฐอเมริกาแต่ละปีจะมีมูลค่าราว 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณนกกระจอกเทศที่สนองตลาดดังกล่าว จึงนับได้ว่าเป็นปริมาณเพียงน้อยนิดเท่านั้น นกกระจอกเทศที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกามีราคาปอนด์ละ 30 เหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นเนื้อที่ราคาสูงมาก แต่ยังคงไม่สามารถสนองความต้องการของตลาดได้เพียงพอ ในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เนื้อนกกระจอกเทศมีจำหน่ายภัตาคารชั้นสูงเท่านั้น
นกกระจอกเทศที่คนทั่วไปคุ้นเคยก็คือพันธุ์อาฟริกาเหนือ S.C Camclus ซึ่งอาศัยอยู่ในมอรอคโคและซูดาน มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนพันธุ์ ซีเรีย S.C-Syriacusสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 1941 ซากหินนกกระจอกเทศถูกค้นพบที่ตอนใต้ของรัสเซีย อินเดียและตอนเหนือของประเทศจีน
นกกระจอกเทศมี 4 ชนิดคือแบ่งตามสีขนมีสีน้ำเงิน สีแดง ดำอาฟริกาและสีคล้ำใกล้เคียงกับดำอาฟริกา นกกระจอกเทศเมื่อแรกเกิดหนักราว 1.5 ปอนด์ สูง 10 – 12 นิ้ว เมื่อลูกนกครบเดือนจะสูงราว 1 ฟุต เมื่อลูกนกสูงได้ 5 – 6 ฟุต แล้วจึงชะลอการเติบโตในส่วนสูง นกที่โตเต็มที่สูงราว 7 – 10 ฟุต น้ำหนักสูงสุดราว 450 ปอนด์ โดยทั่วไปนกกระจอกเทศจะตกไข่เมื่ออายุ 3 ปี และสามารถออกไข่ไปจนถึงอายุ 50 ปี แต่ละปีจะให้ไข่ราว 30 –100 ฟอง นกกระจอกเทศปรับตัวได้ดีกับภูมิอากาศและอยู่ได้แม้ในเนื้อที่ขนาดเล็ก นก 1 คู่ หรือ 3 ตัว อยู่รวมกันใช้พื้นที่เพียง 1/3 เอเคอร์เท่านั้น
นกที่โตแล้วต้องการอาหารเพียงวันละ 4 ปอนด์ นกกระจอกเทศอาฟริกาเป็นนกที่มีราคาและไข่ดกกว่าชนิดอื่น ๆ แต่ถ้าเกิดตายไปผู้เลี้ยงก็สูญเสียมากเช่นกัน สำหรับนกกระจอกเทศที่ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาเลี้ยงเป็นการค้าในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ
1.) พันธุ์คอแดง (Red Neck) ซึ่งพัฒนามาจากพันธุ์ S.Camssaicus และ S.massaicus นกกระจอกเทศนี้จะมีลักษณะผิวสีชมพูเข้มตัวผู้จะมีขนสีดำตลอดลำตัว ยกเว้นปลายหางและปลายปีกจะมีสีขาว ส่วนตัวเมียจะมีสีน้ำตาลเทา มีขนาดตัวใหญ่มาก สูง 2.00 – 2.50 เมตร น้ำหนัก 105 – 1 65 กิโลกรัม ให้ผลผลิตเนื้อมาก แต่ไข่น้อย ตัวผู้ค่อนข้างดุ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์
2.) พันธุ์คอน้ำเงิน (Blue Neck) พัฒนามาจากพันธุ์ S.molybdophanes S.australis พันธุ์นี้จะมีลักษณะผิวหนังสีฟ้าอมเทา สีขนจะเหมือนกับพันธุ์คอแดงแต่ตัวจะเล็กกว่าเล็กน้อย ให้เนื้อน้อยกว่าพันธุ์คอแดง แต่ให้ไข่มากกว่า
3.) พันธุ์คอดำ ( Black Neck หรือ African Black ) พัฒนามาจากพันธุ์ S.camelus, S.massaicus และ S.molybdophanes ลักษณะผิวหนังจะมีสีเทาดำ เท้าและปากสีดำ ตัวเล็ก ให้ผลผลิตเนื้อน้อย แต่ให้ไข่มากกว่าพันธุ์อื่น ๆ และมีนิสัยเชื่อง ไม่ดุร้าย พันธุ์คอดำ ถือเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถให้ไข่ได้มากถึง 80 ฟอง/ปี
นกกระจอกเทศ จัดว่าเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขนาดโตเต็มที่สูงประมาณ 2 – 2.5 เมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่จะหนักประมาณ 160 กิโลกรัม มีอายุยืนได้ถึง 65 – 75 ปี ตัวผู้มีขนาดโตกว่าตัวเมีย ตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยขนตามลำตัวจะเปลี่ยนไปเป็นสีดำ ส่วนขนปีกและขนหางจะเป็นสีขาวสวยงามมาก
สำหรับตัวเมียจะมีขนตามตัวสีน้ำตาลเทาอ่อน ปากมีลักษณะแบนและกว้างมาก ดวงตากลมโต หัวเล็ก ศรีษะล้าน มีขนอ่อนบางสีเทา น้ำตาลอ่อนคล้ายสีครีมหรือผลมะอึก คอยาวและมีขนอ่อนเช่นเดียวกับหัว ปีกเล็กไม่สมตัว ขนที่ปีกยาวพอสมควรแต่ก็ไม่ใช่ขนสำหรับการบิน ซึ่งขนปีกมีไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้น ขาและโคนขาเป็นขาเกลี้ยง ๆ ไม่มีขน
ลักษณะเท้าของนกกระจอกเทศจะพบว่ามีนิ้วเท้าข้างละ 2 นิ้ว ใต้นิ้วเป็นเนื้ออ่อน ๆ ปลายนิ้วทู่ ๆ ใหญ่ ๆ นิ้วทั้งสองจัดเป็นนิ้วกลางและนิ้วนางเท่านั้น นิ้วที่ใหญ่มากคือนิ้วกลาง ซึ่งเป็นธรรมชาติของสัตว์โลกอย่างหนึ่งคือ สัตว์ที่ไม่ใช้ความเร็วของฝีเท้าจะมีนิ้วครบชุดมือ – เท้าข้างละ 5 นิ้ว หากสัตว์นั้นต้องการความเร็วของฝีเท้าเพื่อวิ่งหนีศัตรู ธรรมชาติก็จะวิวัฒนาการให้นิ้วหายไปทีละนิ้วสองนิ้วจนเหลือแต่เพียงนิ้วเดียว เช่นเท้าของม้า มีเพียงนิ้วเดียวที่เรียกว่ากีบเท้าม้า
ลักษณะการวิ่งของนกกระจอกเทศ เมื่อออกวิ่งจะยืดหัวกับคอไปข้างหน้า ปีกที่ใช้ประโยชน์ในการบินจะกางออกเล็กน้อยเพื่อการทรงตัว ปกตินกกระจอกเทศจะเป็นสัตว์อารมณ์ดี นิสัยไม่ดุร้ายมีความสนใจในสิ่งแปลกใหม่ ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและไม่ทำร้ายใครก่อน แต่ค่อนข้างที่จะเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย เมื่อมีเสียงดังจะตกใจวิ่งหนีออกไปอย่างรวดเร็ว ถ้ามีอะไรขวางจะชนทันที จึงเป็นอันตรายสำหรับนกเอง แต่ถ้าคุ้นเคยก็จะเข้ามาหา ชอบใช้ปากจิกสิ่งแปลกใหม่และวัสดุสะท้อนแสง
ดังนั้น คนที่เลี้ยงนกกระจอกเทศหรือเข้าไปดูนกกระจอกเทศไม่ควรใส่แหวน ตุ้มหู และเครื่องประดับอื่น ๆ ที่เป็นพวกโลหะ เพชร พลอย และอื่น ๆ ที่สะท้อนแสง นกกระจอกเทศจะชอบอยู่กันอย่างเงียบ ๆ ไม่ค่อยชอบส่งเสียง ไม่ร้องหนวกหู
นกกระจอกเทศนั้นถึงแม้ว่าจะมีมันสมองเล็กแต่ก็มีความสามารถในการจดจำบางสิ่งบางอย่างได้เป็นอย่างดีมีความสามารถในการจำผู้เลี้ยงดูได้เป็นอย่างดี จำสถานที่พักอาศัยที่ปลอดภัยได้ และถ้าตกใจหรือถูกรังแกทำร้ายจากสัตว์ชนิดใด นกกระจอกเทศจะจดจำ เมื่อจวนตัวหรือโกรธจะต่อสู้ป้องกันตัวด้วยการเตะไปข้างหน้าพร้อมทั้งจิกศัตรูที่รังแก
ธรรมชาติได้สร้างให้นกกระจอกเทศมีสีที่พรางตัวเป็นอย่างดีในทุ่งหญ้าแถบทะเลทราย และคอที่ยาวจึงสามารถมองเห็นศัตรูที่จะมาทำร้ายได้ในระยะไกล ๆ นกจะยืดหดคอและหัวขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลาเพื่อเป็นการตรวจสอบระแวดระวังภัย
โดยทั่วไปแล้วนกกระจอกเทศชอบที่จะอาศัยอยู่ในสภาพพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่นจนถึงร้อน มีความชื้นต่ำ ในเวลากลางวันที่แดดร้อนจะหลบเข้าตามร่มเงาของต้นไม้ ดังนั้นการเลี้ยงนกกระจอกเทศจะให้ประสบความสำเร็จควรจะเลี้ยงในพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่น ไม่มีฝนตกชุกมากนัก ความชื้นต่ำ ซึ่งในประเทศไทยพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดควรเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนล่างเป็นต้น พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมได้แก่ ภาคใต้และภาคตะวันออก ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณฝนชุกและความชื้นสูง พายุลมฝนและบางครั้งมีฝนตกติดต่อกันหลายวันอากาศชื้น มีลมหนาวเย็น อาจทำให้นกกระจอกเทศเจ็บป่วยได้
ภูมิอากาศที่เป็นอันตรายที่สุดสำหรับนกกระจอกเทศคือ ลมพายุฝน ฝนที่ตกพรำ ๆ และมีอากาศหนาว ลูกเห็บ ซึ่งในต่างประเทศที่เลี้ยงนกกระจอกเทศจึงมีคอกพักที่ปิดมิดชิดให้ความอบอุ่นแก่นกกระจอกเทศ
นกกระจอกเทศเมื่อมีอายุประมาณ 10 – 14 เดือนน้ำหนักประมาณ 90 – 110 กิโลกรัม เป็นวัยที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด แต่ต้นทุนการผลิตต่ำสุด เมื่อนกกระจอกเทศอายุมากขึ้น อัตราการเปลี่ยนอาหารให้เป็นเนื้อก็จะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าต้องกินมากแต่ได้เนื้อน้อย ต้นทุนในการผลิตก็จะยิ่งมากขึ้นด้วย นกกระจอกเทศหนึ่งตัวสามารถให้ผลผลิตต่าง ๆ มากมายและมีคุณภาพดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หนัง ขนหรือไข่เพราะการผลิตแต่ละชนิดมีความสามารถเฉพาะตัวดังนี้
1.หนัง(Leeather) ถือว่าเป็นส่วนที่มีค่าและราคาแพงที่สุดเพราะหนังนกกระจอกเทศมีคุณภาพดีเยี่ยม ดีกว่าหนังจรเข้เสียอีก นกกระจอกเทศ 1 ตัว จะให้หนังที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปถึง 3 แบบคือ
- หนังส่วนแข้ง จะมีลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายหนังของสัตว์เลื้อยคลานบางประเภท
- หนังบริเวณต้นขา จะเป็นหนังเรียบคล้ายหนังวัว
- หนังบริเวณหลัง จะมีเม็ดตุ่มนูนขึ้นมา ซึ่งตุ่มนี้คือรูขุมขนนั่นเอง
หนังของนกกระจอกเทศสามารถนำไปใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแจ๊คเก็ต กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด หรือบู๊ตก็ตาม นกกระจอกเทศอายุ 10 – 14 เดือน จะให้หนังที่มีคุณภาพดีที่สุดขนาด 1.1 – 1.5 ตารางเมตร
2.เนื้อ (Meat) เนื้อนกกระจอกเทศจะมีสีแดงเหมือนเนื้อวัวแต่รสชาติจะอ่อนนุ่มคล้ายเนื้อไก่ มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำมาก จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเส้นเลือดสูง หรือผู้ที่บริโภคเนื้อวัวก็สามารถหันมาบริโภคเนื้อนกกระจอกเทศได้ อายุที่ควรส่งโรงงานแปรรูปคือ 10 – 14 เดือน มีน้ำหนักระหว่าง 90 – 110 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อชำแหละแล้วจะได้น้ำหนักซาก 50 – 55 % โดยเฉลี่ยจะเป็นเนื้อที่ขาเสีย 33 – 35 % นอกจากนั้นก็เป็นเนื้อจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จากการวิเคราะห์ พบว่าเนื้อนกกระจอกเทศมีคุณค่าทางอาหารที่ดี มีไขมันต่ำ (1.2%) คอเลสเตอรอลน้อยประมาณ 600 มิลลิกรัม โปรตีนสูงกว่า 20 % น้ำ 75.4 % นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ในเนื้อนกกระจอกเทศ 100 กรัม จะมีแมกนีเซียม 21.5 มิลลิกรัม ฟอสเฟต 208 มิลลิกรัม และโพแทสเซียม 351.4 มิลลิกรัม
ตาราง ส่วนประกอบของโภชนะในเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ (คำนวณจากสัตว์ชนิดละ 85 กรัม)
ชนิดของเนื้อ |
โปรตีน (กรัม) |
ไขมัน (กรัม) |
แคลอรี่ (มิลลิกรัม) |
คอเลสเตอรอล(มิลลิกรัม) |
เนื้อนกกระจอกเทศ |
22.0 |
2.0 |
96.9 |
58.0 |
เนื้อนกอีมู |
22.8 |
4.0 |
94.4 |
52.6 |
เนื้อวัว |
23.0 |
15.0 |
240.0 |
77.0 |
เนื้อไก่ |
27.0 |
3.0 |
140.0 |
73.0 |
เนื้อไก่งวง |
25.0 |
3.0 |
135.0 |
59.0 |
เนื้อแกะ |
22.0 |
13.0 |
205.0 |
78.0 |
เนื้อหมู |
24.0 |
19.0 |
275.0 |
84.0 |
3.ขน (Feathers) พัฒนาการของขนนกกระจอกเทศตั้งแต่แรกเกิดจนถึงโตเต็มที่ จะแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ ระยะแรกเกิดเข้าสู่ระยะลูกนก แล้วเป็นนกรุ่น และไปสิ้นสุดที่นกโตเต็มวัย (Adult) ใช้เวลานาน 16 เดือน จนเมื่อนกกระจอกเทศอายุ 2 ปีขึ้นไป ขนนกจะไม่มีการพัฒนารูปแบบอีกเลย นกตัวผู้จะมีขนสีดำปลายปีกและหางจะมีสีขาว ส่วนตัวเมียจะมีขนสีน้ำตาลเทาตลอดลำตัว ขนสีขาวบริเวณปลายปีกและหางจะมีราคาแพงที่สุด ผู้เลี้ยงสามารถตัดขนนกระยะห่างกันทุก 6 เดือน จะได้ขนนกประมาณ 1.5 – 2 กิโลกรัม โดยนำไปใช้ทำเป็นเครื่องประดับ ตกแต่งเสื้อผ้า และที่สำคัญที่สุดคือ ทำเป็นไม้ปัดฝุ่นสำหรับใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่บอบบางต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ก.โรงเรือน
นกกระจอกเทศเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ป่าโปร่งเป็นทุ่งหญ้าพื้นที่ราบแถบทะเลทรายที่มีพืชอาหารสัตว์อุดมสมบูรณ์ มีพฤติกรรมในการวิ่งที่เร็วมาก อิสระในการใช้ชีวิตมีอยู่สูง และเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย ดังนั้น พื้นที่ที่ใช้เลี้ยงนกกระจอกเทศควรจะต้องเลือกพื้นที่ดังนี้
1. พื้นที่เป็นที่ดอน ไม่มีน้ำท่วมขัง สามารถปลูกพืชอาหารสัตว์สำหรับนกกระจอกเทศได้เป็นอย่างดี
2. ลักษณะดินควรเป็นดินร่วนปนทรายสามารถซึมซับน้ำลงสู่ใต้ดินได้อย่างรวดเร็ว น้ำไม่ท่วมขัง
3. ลักษณะภูมิอากาศ ค่อนข้างแห้งแล้งปริมาณน้ำฝนต่ำกว่า 1,000 มิลลิลิตร/ปี จะเหมาะสมมาก ถ้ามีฝนตกชุกควรไม่เกิน 1,500 มิลลิลิตร/ปี เพราะนกกระจอกเทศไม่ชอบภูมิอากาศที่ชื้นแฉะและมีฝนตกชุกเกินไป ซึ่งจะทำให้ป่วย
4. ห่างไกลจากชุมชนและถนนใหญ่พอสมควรเพราะนกจะมีนิสัยตื่นตกใจง่าย จึงควรเลี้ยงแบบอิสระ ห่างไกลจากเสียงรบกวน จะทำให้นกไม่เครียด
5. มีแหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้และให้นกกระจอกเทศกินได้ตลอดปี
ชนิดของคอกและโรงเรือนเลี้ยงนกกระจอกเทศ
1. คอกเลี้ยงนกกระจอกเทศพ่อ – แม่พันธุ์ นกกระจอกเทศควรจะเลี้ยงแบบเป็นชุดประกอบด้วยนกกระจอกเทศเพศผู้ 1 ตัวต่อแม่พันธุ์นกกระจอกเทศ 1 – 3 ตัว ซึ่งจะต้องมีโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์และวางไข่ โรงเรือน 1 หลังต่อ นกกระจอกเทศ 1 ชุด
คอกเลี้ยงนกกระจอกเทศพ่อ – แม่พันธุ์ จะต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
1.1 โรงเรือน(Sheld) ส่วนประกอบจะต้องมีหลังคาซึ่งมีความสูงไม่น้อยกว่า 4 เมตร มีฝาผนัง 4 ด้าน มีประตูเข้าออก สามารถป้องกันแดด ลม พายุ ฝน ได้เป็นอย่างดี ตัวโรงเรือนควรจะมีขนาดกว้างยาวประมาณ 8 * 10 เมตร ประตูเข้าออกควรจะมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งสำหรับผู้เลี้ยงเข้า – ออก อีกด้านหนึ่งสำหรับนกกระจอกเทศเข้า – ออก
สาเหตุที่มีประตู 2 ด้าน เพื่อเป็นการป้องกันนกกระจอกเทศไม่ให้เข้ามาทำร้ายขณะเก็บไข่ออกไปฟัก ซึ่งในฤดูผสมพันธุ์นกกระจอกเทศเพศผู้จะดูและหวงไข่ ต้องกันออกไปข้างนอกก่อนจึงจะเก็บไข่ได้ และในกรณีที่นกป่วยจะได้ขังไว้ในโรงเรือนทำให้สามารถจับนกทำการรักษาได้สะดวก หรือในกรณีที่มีพายุฝนตกหนัก ควรจะปิดขังไม่ให้นกกระจอกเทศออกไปเล่นฝน ภายในโรงเรือนจะต้องประกอบด้วยรางน้ำรางอาหาร พื้นของโรงเรือนควรจะเป็นพื้นดินอัดแน่นและปูทับด้วยทรายที่สะอาดให้มีความหนาไม่น้อยกว่า 6 นิ้วให้ทั่วโรงเรือนสำหรับนกกระจอกเทศเพศเมียจะทำหลุมวางไข่ในฤดูผสมพันธุ์
1.2 พื้นที่อเนกประสงค์ พื้นที่ควรจะเป็นที่ว่างมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 1 ไร่ แต่พื้นที่ที่เหมาะสมควรจะมีพื้นที่ระหว่า ประมาณ 2 – 5 ไร่ ต่อนกกระจอกเทศ 1 ชุดผสมพันธุ์ (Trios) คือพ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 2 ตัว ในกรณีพื้นที่ 1 ไร่ ควรจะมีความกว้างยาวของพื้นที่คือ 32*50 เมตร ที่กำหนดไว้เช่นนี้เนื่องจากนกกระจอกเทศชอบวิ่งเล่นหากความกว้างและความยาวต่ำกว่านี้จะเป็นอันตรายต่อนกกระจอกเทศ เพราะมันจะวิ่งชนรั้วเนื่องจากหักเลี้ยวไม่ทัน ขนาดความกว้างที่พอเหมาะสมคือ 60 * 100 เมตร นกจะอาศัยอยู่อย่างสบาย ออกกำลังอย่างเต็มที่ ซึ่งภายในบริเวณพื้นที่ควรจะปลูกพืชอาหารสัตว์ให้นกได้จิกกิน ก็จะเป็นการดีต่อสุขภาพของนกกระจอกเทศ รั้วสำหรับคอกนกใหญ่ จะต้องสูงอย่างน้อย 1.8 เมตร แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาด้วยว่านกที่เลี้ยงเป็นประเภท คอแดง คอดำ หรือคอน้ำเงินเพราะความสูงจะแตกต่างกัน
1.3 รั้ว จะต้องมั่นคงแข็งแรงและทนต่อแรงเตะหรือแรงปะทะของนกกระจอกเทศเมื่อวิ่งมาชน เพราะนกกระจอกเทศวิ่งเร็วอัตราเฉลี่ย 60 – 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมน้ำหนักของตัวนกอีกประมาณ 100 กิโลกรัม เป็นรั้วที่สามารถป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นเช่นสุนัขเข้าไปรบกวนนกกระจอกเทศได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้นกกระจอกเทศเกิดความเครียดและตื่นตกใจ จะต้องไม่เป็นลวดหนาม เพราะจะทำให้นกกระจอกเทศได้รับความบาดเจ็บและผิวหนังถูกรั้วขีดข่วน รั้วดังกล่าวควรจะเป็นลวดถักหรือลวดเส้นก็ได้ หัวมุมคอกควรจะทำให้โค้งหรือมน เพราะเวลานกกระจอกเทศวิ่งเข้าไปชนแล้วไม่รู้จักถอยออกมา แต่ถ้าหากเป็นมุมฉากแล้วควรใช้ยางรถยนต์ไปปิดไว้เพื่อกันกระแทก เป็นการป้องกันการสูญเสียทางหนึ่งด้วย
2. โรงเรือนอนุบาลลูกนกกระจอกเทศ โรงเรือนที่ดีจะต้องปิดมิดชิด สามารถป้องกันสัตว์ที่เป็นอันตรายแก่ลูกนก เช่น สุนัข แมว ได้เป็นอย่างดี ภายในโรงเรือนควรแบ่งออกเป็นห้องเล็ก ๆ ที่สามารถใช้กกลูกนกได้ห้องละ 10 – 15 ตัวมีส่วนประกอบของเครื่องกก ได้แก่ ชุดให้ความอบอุ่นและแผงกั้น ตลอดจนชุดให้น้ำและอาหารแก่ลูกนกกระจอกเทศ ห้องกกควรมีความกว้างยาวประมาณ 4 * 4 เมตร ซึ่งจะสามารถเลี้ยงลูกนกได้ โดยทั่วไปแม่นกจะทำการกกลูกนกอยู่ประมาณ 30 วัน จะใช้พื้นที่ภายในโรงเรือนประมาณ 1.20 ตารางเมตร/ตัว ซึ่งโรงเรือนอนุบาลไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่อเนกประสงค์
3. คอกเลี้ยงนกกระจอกเทศรุ่น สำหรับการเลี้ยงนกกระจอกเทศอายุระหว่าง 30 – 120 วันคอกเลี้ยงจะต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเช่นเดียวกับคอกเลี้ยงนกกระจอกเทศพ่อ – แม่พันธุ์ คือประกอบด้วยตัวโรงเรือนและพื้นที่เอนกประสงค์ พื้นที่ภายในโรงเรือนจะต้องใช้ขนาดเฉลี่ย 2 – 2.5 ตารางเมตร/ตัว และพื้นที่อเนกประสงค์จะต้องใช้พื้นที่เฉลี่ย 20 ตารางเมตร/ตัว การสร้างโรงเรือนจะแบ่งออกเป็นคอก ๆ โดยมีรั้วกั้นแบ่งพื้นที่ขนาด 10 * 25 เมตร ซึ่งจะสามารถเลี้ยงลูกนกได้ 10 – 15 ตัว รั้วควรมีความสูงอย่างต่ำ 1.50 เมตร ใช้ตาข่ายชนิดตาเล็กถี่ หัวลูกนกกระจอกเทศไม่สามารถลอดออกมาได้ และต้องสามารถป้องกันสุนัขและแมวได้เป็นอย่างดี ระยะห่างระหว่างรั้วไม่จำเป็นต้องมีเพราะนกวัยนี้ยังไม่ตีกันเพราะยังไม่ถึงวัยผสมพันธุ์ รางน้ำและรางอาหารสามารถปรับระดับความสูงได้และจะต้องอยู่ภายในโรงเรือนเพื่อป้องกันฝนและแสงแดดเพื่อความสะดวกในการกินอาหารของลูกนกและกระตุ้นความต้องการกินอาหารของลูกนก
4. คอกเลี้ยงนกกระจอกเทศฝูง สำหรับการเลี้ยงนกกระจอกเทศอายุระหว่าง 4 – 14 เดือนนกกระจอกเทศวัยนี้อยู่ในระยะกำลังเติบโตเต็มที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย เมื่อถึงอายุ 12 – 14 เดือนขึ้นไปจึงคัดเลือกส่งตลาดและคัดออกเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และจัดกลุ่มผสมพันธุ์ในโรงเรือนเมื่อเลี้ยงได้อายุ 18 – 24 เดือนต่อไป คอกสำหรับนกกระจอกเทศฝูงจะต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเช่นเดียวกับคอกเลี้ยงนกกระจอกเทศรุ่น แต่พื้นที่ใช้สอยภายในโรงเรือนจะมากกว่า นกกระจอกเทศวัยนี้ต้องการพื้นที่ภายในโรงเรือนเฉลี่ย 10 ตารางเมตร/ตัว และพื้นที่อเนกประสงค์เฉลี่ย 250 ตารางเมตร/ตัว ควรจัดแบ่งฝูงฝูงละ 20 – 25 ตัว จะทำให้การจัดการง่าย โดยนกมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันจะทำให้นกไม่รังแกทำร้ายกันมากนัก การกินอาหารจะไม่ได้เปรียบและเสียเปรียบกัน และยังช่วยทำให้อัตราการเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ดังนั้นโรงเรือนควรจะมีขนาด 10 * 20 เมตร หรือ 15 * 15 เมตร ภายในควรจะมีรางน้ำรางอาหารยาว 10 เมตร จึงจะเพียงพอ ส่วนพื้นที่อเนกประสงค์ควรจะมีขนาดกว้างยาว 50 * 100 เมตร มีต้นไม้ใหญ่เป็นร่มเงาบ้างในตอนกลางวันสำหรับนกได้พักผ่อน การจัดผังคอกเช่นเดียวกับคอกเลี้ยงนกพ่อแม่พันธุ์
การวางแผนผังฟาร์ม การวางแผนผังฟาร์มขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบหลายประการ แล้วแต่ขนาดของธุรกิจ ปริมาณนกกระจอกเทศพ่อ – แม่พันธุ์ ปริมาณนกที่จะเลี้ยงในขนาดต่าง ๆ และพื้นที่ที่จะดำเนินการ แต่โดยทั่วไปแล้วควรจะเริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ ไปหาธุรกิจใหญ่ ปริมาณพื้นที่ดำเนินการที่มีอยู่เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการเลี้ยงนกกระจอกเทศ การวางแผนผังฟาร์มเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการขยายกิจการต่อไป และการจัดสัดส่วนที่เหมาะสม รวมถึงการควบคุมปริมาณนกกระจอกเทศในฟาร์มให้เหมาะสมกับพื้นที่
การให้อาหารนกกระจอกเทศ
นกกระจอกเทศ เป็นสัตว์ป่ามาก่อนที่จะนำมาเลี้ยงในระบบฟาร์ม พืชจึงเป็นอาหารหลักของนกกระจอกเทศ นกกระจอกเทศจึงจัดอยู่ในสัตว์ประเภทกินพืช (Herbivorus) แต่ก็ใช่ว่านกกระจอกเทศจะกินแต่พืชเพียงอย่างเดียว แมลงต่าง ๆ หนอนหรือสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็ก ๆ นกกระจอกเทศก็จิกกินเช่นกัน เนื่องจากนกกระจอกเทศสามารถมีชีวิตอยู่ได้แม้ในทุ่งหญ้าที่แห้งแล้ง ไม่สมบูรณ์ สัตว์อื่น ๆ เช่น วัว หรือแกะอยู่ไม่ได้ แต่นกกระจอกเทศก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ทั้งนี้เพราะนกกระจอกเทศสามารถย่อยสลายสารอาหารที่มีกากใยได้สูง 47 – 60 %
กระเพาะของนกกระจอกเทศจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นกระเพาะบด (Gizzard) เหมือนไก่ แต่ไม่มีกระเพาะพัก (Crop) และมีกระเพาะแท้ (Proventiculus) เหมือนสัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant) เช่น โค กระบือ เป็นต้น นกกระจอกเทศจึงสามารถย่อยอาหารที่มีกากใยได้เป็นอย่างดี
วิธีการให้อาหารลูกนกกระจอกเทศแรกเกิด
ลูกนกเกิดใหม่จะยังมีไข่แดงอยู่ใยช่องท้องซึ่งจะใช้เวลา 3 – 4 วันเพื่อย่อยไข่แดงดังกล่าวนี้ ดังนั้น ในระยะ 3 – 4 วันแรกที่ลูกนกออกจากไข่จึงไม่จำเป็นต้องให้กินอาหาร แต่อาจจะจัดทรายหยาบ หรือเกล็ดเล็ก ๆ ขนาดเมล็ดข้าวสารตั้งไว้ให้นกกิน แต่ต้องระวังอย่าให้กินมากเกินไปส่วนใหญ่จะนิยมนำอาหารและน้ำมาตั้งให้ลูกนกกินหลังจากลูกนกออกจากตู้เกิดแล้ว 1 – 2 วัน ในระยะแรกลูกนกจะยังไม่ให้ความสนใจที่จะสอนให้ลูกนกรู้จักที่ให้น้ำและอาหาร ลูกนกอาจอดน้ำหรือได้จึงควรนำลูกปิงปองมาใส่ในภาชนะที่ให้น้ำและอาหารเพื่อให้ลูกนกสนใจและไปจิกกินอาหารและน้ำ โดยทั่วไปแล้วลูกนกชอบอาหารที่มีรูปร่างแปลก ๆ และหญ้าสด อาหารสำหรับลูกนกจะประกอบด้วย พลังงาน 2,700 – 2,800 กิโลแคลอรี โปรตีน 20 % แต่มีเยื่อใยต่ำ คือไม่เกิน 10 % อัตราส่วนของแคลเซียม (Ca) และฟอสฟอรัส(P) ต้องเหมาะสม โดยอาจจะเสริมด้วยเปลือกหอยหรือกระดูกป่น
ลูกนกระยะนี้จะกินอาหารวันละประมาณ 10 – 20 กรัม และจะเพิ่มปริมาณขึ้นตามน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ลูกนกจะต้องการอาหารข้นวันละ 1.5 – 3 % ของน้ำหนักตัว ลูกนกจะมีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก ซึ่งจะทำให้ขาที่มีขนาดเล็กรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ไหว อาจทำให้ลูกนกขาพิการได้ จึงควรจำกัดปริมาณอาหารและให้กินอาหารวันละ 2 – 4 ครั้ง โดยให้กินอาหารหมดภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นอาจให้พืชสดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ลูกนกกินครั้งละน้อย ๆ วันละ 3 – 4 ครั้ง โดยเลือกให้ลูกนกกินเฉพาะส่วนที่เป็นใบ เมื่อลูกนกอายุมากขึ้น จะกินอาหารที่มีเยื่อใยได้มากขึ้นถึง 20 % ของปริมาณอาหารข้น
ส่วนน้ำจะต้องมีให้กินตลอดเวลา โดยจะต้องเป็นน้ำที่ใส สะอาด ภาชนะที่ใส่น้ำและอาหารจะต้องทำความสะอาดทุกวัน อาหารที่เหลือค้างอยู่ในรางจะต้องไม่นำกลับมาใช้อีก และจะต้องระวังไม่ให้ลูกนกจิกกินอุจจาระที่ลูกนกถ่ายออกมาเพราะจะทำให้ท้องเสียหรือเป็นโรคอื่น ๆ ได้จึงควรที่จะทำความสะอาด เก็บกวาดขี้นกออกทิ้งบ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 – 5 วันแรก
อาหารสำหรับลูกนกกระจอกเทศ (อายุ 0 – 3 เดือน)
ลูกนกในช่วงอายุ 3 เดือนแรกจะมีอัตราการตายสูงมากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการจัดการและอาหาร ดังนั้นเพื่อป้องกันการสูญเสียดังกล่าว ผู้เลี้ยงจะต้องเองใจใส่ดูแลลูกนกเป็นอย่างดี น้ำ อาหารจะต้องเหมาะสมครบถ้วนตรงตามความต้องการของลูกนก
ในระยะนี้ลูกนกต้องการอาหารที่มีโปรตีน 20 % พลังงาน 2,700 – 2,800 กิโลแคลอรี่ และมีพืชผักสดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตั้งไว้ให้นกจิกกิน ซึ่งในระยะสองสัปดาห์แรกจะให้ครั้งละน้อย ๆ แล้วเพิ่มปริมาณของหญ้าสดตามอายุของลูกนกที่เพิ่มขึ้นหรืออาจจะปล่อยให้ลูกนกลงไปจิกกันเองในแปลงปลูกหญ้าก็ได้ แต่แปลงหญ้านี้ต้องสะอาด ปราศจากยาฆ่าแมลง หรือมีสิ่งแปลกปลอมตกหล่นอยู่ เช่น ตะปู ลวด กระดุม เศษพลาสติก เป็นต้น เพราะนกกระจอกเทศเป็นสัตว์ขี้สงสัยเห็นอะไรตกหล่นอยู่ก็จะจิกกิน ซึ่งจะทำให้นกกระจอกเทศเป็นอันตรายได้ (Hardware Disease)
นอกจากนี้การปล่อยให้ลูกนกออกไปเดินเล่นกินหญ้าในแปลงหญ้า จะทำให้ลูกนกได้ออกกำลังกาย ขาก็จะแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งจะได้รับวิตามินดี (D3) จากแสงแดดอีกด้วย
อาหารสำหรับนกกระจอกเทศรุ่น (อายุ 4 – 10 เดือน) ในระยะนี้ลูกนกกระจอกเทศต้องการอาหารที่มีพลังงาน 2,400 กิโลแคลอรี่ ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม โปรตีน 14 – 15 % และเยื่อใย 14 % และจะกินอาหารวันละ 1.5 – 2 กิโลกรัม แต่เมื่อลูกนกอายุมากขึ้นน้ำหนักตัวที่เพิ่มจะอยู่ในอัตราที่ลดลงจึงทำให้อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะสามารถกินอาหารที่มีเยื่อใยได้มากขึ้นด้วย ถึงแม้ว่านกกระจอกเทศในระยะนี้จะต้องการการดูแลเอาใจใส่น้อยกว่าในระยะ 3 เดือนแรก แต่ก็ไม่ควรประมาทจนขาดความเอาใจใส่ โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพอาหารจะต้องตรงตามความต้องการและมีปริมาณที่เพียงพอ น้ำต้องใสสะอาด เสริมอาหารด้วยหญ้าหรือผักสด หรือปล่อยให้นกกระจอกเทศไปจิกกินเองในแปลงหญ้าที่สำคัญต้องมีกรวดหินตั้งไว้ให้นกกระจอกเทศด้วยเนื่องจากนกกระจอกเทศไม่มีฟันที่จะใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาสิ่งที่จะช่วยย่อยอาหารที่นกกระจอกเทศกินเข้าไป ในสภาพธรรมชาตินกกระจอกเทศจะจิกกินก้อนกรวด ก้อนหิน หรือทรายหยาบจากพื้นดินเพื่อไปช่วยบดอาหารในกึ๋น ดังนั้น การเลี้ยงในระบบฟาร์มก็จำเป็นจะต้องจัดหาหิน กรวด หินเกล็ดเล็ก ๆ หรือเปลือกหอยป่น ตั้งไว้ให้นกกระจอกเทศกิน แต่จะต้องคอยสังเกตุด้วยว่าอย่าให้นกกระจอกเทศกินมากเกินไปจนทำให้ไปอุดตันในระบบทางเดินอาหาร
อาหารสำหรับนกกระจอกเทศขุน (อายุ 11 – 14 เดือน)
นกกระจอกเทศที่อายุ 8 – 10 เดือน จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 65 – 95 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ อาหารและการจัดการ ในบางแห่งจะซื้อขายกันที่น้ำหนัก 90 – 95 กิโลกรัม แค่บางแห่งเท่านั้นที่อาจจะต้องการที่น้ำหนัก 100 – 110 กิโลกรัม อาหารที่นกกระจอกเทศระยะนี้ต้องการคือ มีพลังงาน 2,500 กิโลแคลอรี่ ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม โปรตีน 14 – 16 % และเยื่อใย 16% ระยะนี้นกกระจอกเทศจะกินอาหารวันละ 2.0 2.5 กิโลกรัม ทั้งนี้ หญ้าหรือพืชผักจะต้องมีให้กินหรือปล่อยในแปลงหญ้าก็ได้ และที่ขาดไม่ได้คือ น้ำสะอาดต้องมีให้กินตลอดเวลา
อาหารสำหรับนกกระจอกเทศพ่อ – แม่พันธุ์ (อายุ 14 เดือนขึ้นไป) อาหารที่ใช้เลี้ยงจะประกอบด้วย พลังงาน 2,400 – 2,600 กิโลแคลอรี ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม โปรตีน 14 % และเยื่อใย 16 % ซึ่งการให้อาหารนกกระจอกเทศในช่วงนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
- ช่วงผสมพันธุ์ (Laying Period)
- นอกฤดูผสมพันธุ์ (Off Season)
นกกระจอกเทศในช่วงผสมพันธุ์จะมีความต้องการอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูงเพื่อใช้ในการสร้างไข่ ซึ่งถ้าอาหารดีตรงตามความต้องการจะทำให้ได้ไข่ที่มีเชื้อดีด้วย นอกจากนี้จะต้องพิจารณาอัตราส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัส (Ca : P) โดยทั่ว ๆ ไป อัตราส่วนของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสจะเท่ากับ 1 : 0.5 – 0.6 ถ้าในสูตรอาหารมีแคลเซียมมากเกินไปจะทำให้ไปหยุดยั้งการทำงานของแมงกานีสและสังกะสี ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการมีเชื้อของไข่ สำหรับอาหารนกกระจอกเทศนอกฤดูการผสมพันธุ์เป็นอาหารที่กินเพื่อดำรงชีพเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีพลังงานมากนัก สามารถให้พืชหญ้าได้มาขึ้น จนเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์อีกจึงจะขุนนกกระจอกเทศให้มีร่างกายสมบูรณ์แต่ระวังอย่าให้อ้วนเกินไป