ความนิยมในการเลี้ยงเต่าบกในบ้านเราเริ่มมีมากขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก เต่าบกนั้นนอกจากจะมีความสวยงามแล้วยังมีอุปนิสัยที่น่ารัก กินง่ายอยู่ง่าย รักสงบแถมยังมีอายุที่ยืนยาวอีกด้วย (ถ้าไม่เลี้ยงตายซะก่อนนะ) เรียกได้ว่าเลี้ยงกันไปจนเป็นมรดกตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานให้เลี้ยงต่อกันไปเลยก็ว่าได้ เต่าบกที่เข้ามาในบ้านเราที่เลี้ยงๆกันอยู่นั้นก็มีอยู่มากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นดาวอินเดีย ดาวพม่า ดาวศรีรังกา เรเดียต้า Red Food เรียวพาร์ด ซูคาต้า Aldabra ฯลฯ

วิธีการเลือกซื้อ
1. เต่าที่สมบูรณ์นิ้วเท้าต้องครบ ขาหน้า 5 ขาหลัง 4 เล็บ เนื่องจากในธรรมชาติเต่าจะมีการเดิน การขุดโน่นขุดนี่หรือระหว่างกานขนส่ง เต่าถูกส่งมาในจำนวนมากเต่าอาจจะทะเลาะเบาะแว้งกัดกันทำให้นิ้วขาดหายหรือกุดไปได้
2. ความสมบูรณ์ของกระดองเพราะถือเป็นจุดเด่นและเป็นสิ่งที่ทำให้เต่าที่เราจะเลือกนั้นสวยแตกต่างจากเต่าตัวอื่นๆ จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องตรวจตราเป็นพิเศษ ให้ดูลวดลายที่ละเอียดชัดเจน เป็นระเบียบ ยิ่งมีสีเหลืองมากๆก็จะยิ่งดี เต่าที่มีลักษณะสีเหลืองมากๆ นี้เราจะเรียกว่า (Hi Yellow)
3. ถ้าดูจากด้านบนและด้านข้างของกระดองแล้วนั้นจะต้องไม่เอียงซ้อน บิ่น แตก ถลอก บิดเบี้ยว ความบิดเบี้ยวหรือความ Double ของ Scute กระดองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องตรวจตรา โดยปกติแล้วเต่าจะมี Scute ที่แถวกลาง 5 Scute และแถวข้างแถวละ 4 Sctue ดูแล้วต้องสมดุลกัน ถ้ามองด้านข้าวก็ควรเลือกกระดองที่มีลักษณะนูนๆสูงๆเต่าที่กระดองแตก (แล้วยังไม่ผสานสนิทดี) ก็เป็นเต่าที่ควรหลีกเลี่ยงนะคะ
4. ดูที่ดวงตาของเต่าและวจะต้องใสแจ๋ว ต้องเป็นเต่าที่ไม่ขี้แง ไม่มีน้ำตาหรือขี้ตา จมูกต้องไม่มีน้ำมูกเฉอะแฉะ และต้องไม่หดหัวอยู่ในกระดองตลอดเวลา เป็นเต่าขี้ขลาด
5. สถานที่เลี้ยง ถ้ามีอุณหภูมิสูงหรืออากาศร้อนไม่มีความชื่นมาก ในขณะที่เต่าตัวอื่นก็เคลื่อนไหวกันก็ควรเลือกตัวที่มีการเคลื่อนไหว
6. ถ้าตอนที่เลือกนั้นได้เห็นเต่ากินอาหารกับตาก็จะช่วยเป็นหลักประกันเรื่องสุขภาพของเต่าได้ดีในระดับนึงด้วย

การแยกเพศ เต่าบกโดยส่วนมากจะใช้วิธีแยกเพศจากการสังเกตบริเวณหางเป็นหลัก เพศผู้ ใต้กระดองจะเว้าหางจะมีลักษณะยาวและแหลมเนื่องจากเมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ตัวผู้จะขึ้นคร่อมตัวเมีย ใต้กระดองจึงต้องเว้าเข้าไปเพื่อรับกับกระดองส่วนบนของตัวเมียและอวัยวะเพศที่อยู่บริเวณโคนหางก็จะต้องยื่นลงมาหาอวัยวะเพศของตัวเมียด้วย ทำให้ลักษณะทางกายภาพจึงเป็นเช่นนั้น เพศเมีย ใต้กระดองจะแบนเรียบหางจะมีลักษณะอ้วนและสั้นกว่า ในกรณีที่เต่ายังเล็ก จะใช้วิธีการสังเกตที่หางเป็นหลัก แต่ถ้าเล็กๆมากก็ดูยาก ส่วนกรณีของใต้กระดองนั้นควรจะเป็นเต่าที่มีขนาดสัก 5-6 นิ้วจึงจะเริ่มเห็นได้ชัดเจน

อาหารการกิน
เต่าเป็นสัตว์ที่กินง่าย กินได้หลายอย่าง การที่เต่าที่ได้กินอาหารที่หลากหลายนั้นก็จะยิ่งได้สารอาหารที่หลากหลายเช่นกัน เต่าก็จะมีสุขภาพแข็งแรง ทำให้กินอาหารได้มาก ไม่เบื่ออาหาร ส่งผลให้เต่ามีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ส่วนอาหารได้แก่ผักหลายๆชนิด เช่น ผักบุ้งจีน ยอดมะระ ผักคะน้า ผักหวานบ้าน (อันนี้เจอในท็อป ซุปเปอร์ แคลเซียมสูงดี) กวางตุ้ง ใบองุ่น ใบและดอกดาวเรือง อาหารเม็ดเต่าบก กระบองเพชรเสมา หญ้ามาเลย์ สารพัดผัก ฯลฯ แต่ควรงดเว้นพวกผักใบม่วงๆ เช่นกำหล่ำปลีม่วง

ก่อนจะนำมาให้เต่ากินนั้นควรล้างให้สะอาดซะก่อน จากนั้นสับเป็นฝอยๆ รวมกันแล้วแช่เย็นไว้ใด้ซัก สาม-สี่วันแล้วเสริมด้วยผลไม้หลากหลายชนิด

ผักกาดหอมนี่ไม่ต้องให้บ่อยหรืออย่าให้เลยก็ได้เพราะไม่มีคุณค่าอะไรเลย ให้เฉพาะตอนที่เต่าไม่ค่อยจะกินก็พอ จะช่วยกระตุ้นการกินได้ พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ก็นานๆให้ทีได้ ส่วนแครอท ฟักทอง มะเขือเทศ เสริมให้บ้างแต่นานให้ที อย่าให้บ่อยเพราะพวกผักผลไม้ที่มีสีเหลือง สีแสดๆ แดงๆ จะมีฟอสฟอรัสสูง กินมากเกินไปจะไปดูดซึมแคลเซียมไปหมอ ให้เป็นผักใบเขียวเป็นหลักน่าจะดีกว่า

ส่วนอาหารสุนัขอาหารแมวอาหารนกขุนทองเม็ดกลมๆเขียวๆแนะนำให้ทานได้ (แต่ควรเลือกแบบที่มีไขมันต่ำๆ) จึงไม่ส่งผลต่อสุขภาพไตและตับ ให้เดือนละครั้ง 2 ครั้ง แต่อย่าให้บ่อยนัก ให้ไม่ต้องมาก ไขมันจะช่วยทำให้เต่าขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น แต่ถ้าหากเต่าไตหรือกระทั่งการเกิดก้อนนิ่วขึ้นได้หรืออาจส่งผลกระทบในเรื่องของกระดองที่เติบโตผิดรูปร่างได้

น้ำก็ให้เผื่อไว้บ้าง บางคนเชื่อว่าการที่เต่าได้รับน้ำจากผักผลไม้เพียงพอแล้ว แต่ความเป็นจริงก็คือ แม้ว่าเต่าจะดื่มน้ำเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเต่าจะไม่ดื่มน้ำเลย ควรให้เผื่อไว้ในกรณีที่น้ำในผักผลไม้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้สำหรับผู้เลี้ยงเต่าในกรงดิน การที่เต่ากินอาหารบนพื้นดินแล้วกลืนกินทรายหรือกรวดเม็ดโตๆ ปะปนลงไปด้วยนั้นถือว่าเป็นอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากทรายหรือกรวดเม็ดโตๆก้อนใดก้อนหนึ่ง อาจจะเข้าไปอุดตันลำไส้หรืออาจเป็นสาเหตุของภาวะนิ่มหรือภาวะเกี่ยวกับไตที่จะตามมาในภายหลังได้

อาหารเสริม
ก่อนให้อาหารในแต่ละครั้ง ควรจะขูดผงกระดองปลาหมึกหรือลิ้นทะเล ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามรายขายอาหารนก ราคาประมาณอันละ 10-20 บาท นำมาขูดเป็นผงๆ โรยบนอาหารให้บ่อยๆเพื่อเสริมแคลเซียม (Calcium Carbonate) เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เต่าน้อยของเราโตไวขึ้น เป็นการเสริมแคลเซียมในแบบประหยัด ราคาถูก ส่วนวิตามินที่จะเสริมให้แก่เต่านั้นก็ให้ใช้แบบรวม (Multivitamin) ของคนบดโรยนิดเดียวก็พอ

สถานที่เลี้ยง
การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมของเต่านั้นเป็นไปได้ทั้งการเลี้ยงแบบ Indoor และ Outdoor แต่ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงในรูปแบบใดก็ตามต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานที่เต่าบกต้องการไว้เป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นจุดให้ความร้อน, แสงแดดธรรมชาติ, วัสดุรองพื้นกรงที่เหมาะสม, พื้นที่เดินออกกำลังกายและบ้านสำหรับพักผ่อนและหลบภัยของเต่า

เลี้ยงในร่ม Indoor เต่าที่ยังเล็กอาจจะเลี้ยงในร่มก่อนได้โดยวัสดุที่ใช้ไม่ว่าจะเป็น หญ้าเทียม หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ควรมีจุดที่ให้แสง อาจจะใช้สปอตไลท์ หลอดไส้ธรรมดา หรือถ้าได้หลอด UV ก็จะยิ่งดี ส่องให้ความอบอุ่นตลอดเวลา ระวังเรื่องความชื่นหมั่นคอยดูแลความสะอาะและความชื่นของวัสดุปูพื้นที่ใช้เลี้ยงนำออกไปตากแดดธรรมชาติด้วย เพื่อจะได้รับรังสี UV จากธรรมชาติ

เลี้ยงกลางแจ้ง Outdoor ในกรณีที่เต่าโตพอสมควรอาจจะให้เต่าอยู่ในสวนหน้าบ้าน ในสนามหญ้าที่เต่าโตพอสมควร อาจจะให้เต่าอยู่ในสวนหน้าบ้าน ในสนามหญ้ากลางแจ้ง ยิ่งพื้นที่ยิ่งกว้างจะยิ่งดี ควรจะมีรั้วรอบขอบชิด เพื่อกันสัตว์เลี้ยงอื่นๆมาทำร้ายรังแก ควรระวังเรื่องฝนด้วย ควรมีร่มเงาต้นไม้ให้เต่าได้หลบแดดหลบฝนได้บ้าง อาจจะเป็นพุ่มไม้เตี้ยๆ

ข้อดีของการเลี้ยงกลางแจ้งคือ เต่าได้รับแสงจากธรรมชาติได้เดินออกกำลังกายในพื้นที่มากๆ ทำให้ยิ่งหิวบ่อย กินอาหารได้ ดีขึ้นมากขึ้น โตเร็วและแข็งแรง หรืออาจจะเลี้ยงสลับระหว่างกลางแจ้งกับในร่มไม้ก็ได้ ในกรณีที่เวลากลางคืนช่วงฤดูหนาวหรือฤดูฝนอากาศจะเย็นจัด ก็อาจจะเอามาเลี้ยงไว้ในที่ร่มเปิดไฟกก ให้ความอบอุ่นได้ คือไม่ว่าจะเลี้ยงกลางแจ้งหรือในร่มก็ตาม ที่ควรระวังนั่นก็คือเรื่องความชื่นและอากาศเย็น

อุณหภูมิ
เต่าบกโดยส่วนใหญ่จะเป็นเต่าที่ชอบอุณหภูมิสูง ควรจะอยู่ที่ประมาณ 30 องศาเซลเซียสในตอนกลางวันและไม่ต่ำกว่า 21 องศาเซลเซียส ในตอนกลางคืนน่าจะเป็นการดีที่สุด โดนแดดทุกวันก็ยิ่งดี แนะนำให้โดนแดดในช่วงเช้า จะช่วยทำให้กระดองแข็งแรง ไม่เปราะนิ่ม ถ้าเต่าที่ไม่ค่อยกิน ไม่ค่อยเคลื่อนไหว เต่าก็จะไม่ค่อยแข็งแรง สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากอากาศเย็น อากาศชื่นอาจจะทำให้เต่าไม่สบายได้

การเป็นหวัดของเต่ามักเกิดที่เต่าได้สัมผัสกับอากาศชื้นเป็นเวลานานๆ ดังนั้นในฤดูฝนควรมีการกกไฟเพื่อไล่ความชื้นในสถานที่เลี้ยงแม้ว่าอุณหภูมิจะไม่ต่ำกว่าเกณฑ์อยู่สบายของเต่าก็ตาม แต่ความชื่นสัมพัทธ์ในอากาศนั้นก็สูงเกินกว่าปอดของเต่าจะรับได้ อีกทั้งการเพิ่มอุณหภูมิความร้อน ยังจะทำให้เต่ากินได้มากขึ้น เคลื่อนไหวได้มากขึ้นด้วย หากเต่าที่เลี้ยงไว้มีอาการผิดปกติและผู้เลี้ยงไม่เคยพบประสบมาก่อน ควรนำไปพบสัตวแพทย์น่าจะเป็นการดีที่สุด

ยาถ่ายพยาธิ
สิ่งที่ต้องกระทำเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งก็คือการถ่ายพยาธิ เรื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่หากินอยู่ตามพื้นจึงมีโอกาสสูงที่จะติดพยาธิได้ พยาธิจะต้องถ่ายออก มีอยู่ 2 ชนิดคือพยาธิตัวกลมและพยาธิตัวแบน

การทำความสะอาด
เต่าที่เลี้ยงกลางแจ้ง ในสวนหรือสนามหญ้า ย่อมสกปรกกว่าเต่าที่เลี้ยงในตู้หรือหญ้าเทียม ควรอาบน้ำให้เต่าบ้าง โดยเอาผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตามที่ต่างๆ เช่น กระดอง ขาตามนิ้วต่างๆ หาง ตามซอกข้อพับต่างๆ ส่วนกระดองของเต่าอาจจะใช้วาสลีนหรือครีมบำรุงผิวอ่อนๆ ทาเพื่อให้เงางามและเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับกระดอง

ความผิดปกติ
น้ำหนักลด : โดยปกติแล้วเต่าที่เราเลี้ยง ควรมีน้ำหนักและขนาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม โดยเราอาจจะจดบันทึก ขนาดและน้ำหนักของเต่าไว้เป็นระยะเพื่อเปรียบเทียบดูการเจริญเติบโต ถ้าเต่ามีน้ำหนักลดลงจากเดิมก็น่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับที่เราเลี้ยงเต่าแล้ว

การที่เต่ามีน้ำตาบ่งบอกได้ 2 สาเหตุ
ประการแรก เต่ากำลังปรับตัวเข้ากับาสภาพแวดล้อมใหม่ซึ่งเป็นช่วงก้ำกึ่งกับการเป็นหวัดหรือไม่เป็นหวัด ในช่วงนี้เราอาจเห็นเต่ามีน้ำมูกด้วย ดังนั้นการกกไฟและตากแดดเป็นการช่วยเต่าที่สุด อย่ารบกวนเต่าอย่างอื่นเพราะอาจทำให้เต่าเครียดและเป็นหวัดในระยะยาวๆได้ 

ประการที่สอง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งด้านอากาศ, อุณหภูมิและความชื้น ให้ดูว่าเต่าขาดวิตามินเอหรือไม่โดยเช็คว่าที่ผ่านมาอาหารเต่าที่เราให้ขาดวิตามินเอมาเป็นเวลานานหรือเปล่า ส่วนใหญ่เต่าที่มีน้ำตาในช่วงนี้น่าจะเป็นประการแรก เนื่องจากอากาศกำลังเปลี่ยนแถมเปลี่ยนในทางที่เต่าชอบเสียด้วยคื่ออากาศกำลังเย็นทุกวัน

เต่าที่มีขี้ตาหรือเต่าที่เริ่มมีน้ำลายไหลมากๆ อาจแสดงถึงอาการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขี้ตาเหนียวๆเยอะเนี่ยลองใช้ยาหยอดตาคนหยดวันละ สองเวลาเช้าเย็นข้างละหยดดู หยอดติดต่อกันอย่างน้อยประมาณ 5 วันแต่ไม่ควรเกิน 14วัน หากมีน้ำมูกก็หยอดจมูกก็ได้ หากเต่าไม่กินอาหารก็ให้ระวังภาวะขาดน้ำแทรกซ้อนด้วย แต่ถ้าเป็นแบบน้ำตาไหลแบบใสๆ ก็ให้ตรวจก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับเต่า เพราะว่าเต่าบางพันธุ์เวลาโดนแสงจ้าๆ ก็มีน้ำตาไหลพรากได้ โดยปกติไม่อยากให้ใช้ยากับเต่าโดยไม่จำเป็นหรืออาจเกิดได้จากการได้รับอาหารที่ขาดวิตามินเอหรือเปล่า ?

รูปร่างกระดองที่บิดเบี้ยวเปราะนิ่ม สาเหตุอาจเกิดจากไม่ได้รับรังสี UV ไม่ได้รับแสงแดดจากธรรมชาติ การขาดแคลเซียมหรือได้รับแคลเซี่ยมมากเกินไปก็อาจทำให้การเจริญเติบโตของกระดองบิดเบี้ยวได้เหมือนกัน

หมายเหตุ เต่าดาวอินเดีย เรียวพาร์ด ซูคาต้า สามารถเลี้ยงรวมกันได้คือความต้องการแดด (ภาวะอากาศร้อน)มากพอๆกัน ไม่ทนความชื้นเหมือนกัน ส่วนเรเดียต้าควรแยกออกเพราทนชื้นได้แต่ไม่ชอบแดดหรือภาวะความร้อนมากๆ แต่ก็ไม่เสมอไปคือเราสามารถประยุกต์เอาเองได้ว่าพันธุ์ไหนสามารถเลี้ยงได้กับพันธุ์ไหน โดยศึกษาข้อมูลพื้นฐานของเต่าที่เราเลี้ยงแต่ละชนิด แล้วมาประยุกต์เลี้ยงในสภาพที่ใกล้เคียงกันได้

เรื่องโรคก็ไม่แตกต่างกันมากนักในเต่าแต่ละชนิด เพียงแต่ว่าความอดทนต่อโรคไม่เท่ากันเท่านั้นเอง ดังนั้นเขาจึงแนะนำให้แยกเลี้ยงแต่ในความเป็นจริงที่เราต้องการเลี้ยงหลากหลายชนิดโดยมีเนื้อที่จำกัด